ลำดับเหตุการณ์ กรณี ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ [ถืง ๕ ส.ค. ๒๕๖๐]

24.7.17





ลำดับเหตุการณ์
กรณี เชคสเปียร์ต้องตาย
[ถืง ๕ ส.. ๒๕๖๐]


ปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๑ :
บทภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย เขียนเสร็จ โดยแปลจากละครอมตะเรื่อง แม็คเบ็ธ ของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์  ขณะนั้นยังไม่มีขบวนการคนเสื้อแดง

๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ : ‘เชคสเปียร์ต้องตายเป็นโครงการสุดท้ายที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน (๓ ล้านบาท) จากกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง  ภายใต้การดูแลของ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย  ซึ่งเป็นองค์กรในกระทรวงวัฒนธรรม
            การตัดสินให้ทุนส่งเสริมล่าช้า เพราะมีความกังวลว่าฉากลอบปลงพระชนม์พระราชาดังแคนใน แม็คเบ็ธฉบับไทย  ผู้สร้างภาพยนตร์ ต้องไปถ่ายทำฉากนี้มาก่อน และนำภาพยนตร์ดิบทั้งหมดที่ถ่ายทำมาในฉากนี้ ไปฉายให้คณะกรรมการที่บริหารกองทุนของกระทรวงได้พิจารณา
            หลังจากได้ชมฉากนี้ทั้งหมดทุกเทค คณะกรรมการสรุปความเห็นว่า นอกจากจะไม่ได้เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแต่อย่างใดแล้ว  กรรมการเห็นสมควรส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้  เพราะเป็นภาพยนตร์ที่สำรวจความรู้สำนึกผิดชอบ-ชั่วดี  และส่งเสริมให้เกิดความคิดลึกซึ้งในจริยธรรมและศีลธรรมที่แท้จริง

**  **  **  **

๒๐ มีนาคม ๒๕๕๕ : กองเซ็นเซอร์
ตามปกติคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (กองเซ็นเซอร์) จะประกาศกำหนดเรทติ้งทันทีหลังจากชมภาพยนตร์  แต่ในกรณี เชคสเปียร์ต้องตาย, การตัดสินถูกเลื่อนไปหนึ่งอาทิตย์  เพราะจะต้องให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์ทั้งหมดได้ดูก่อน

๒๖ มีนาคม ๒๕๕๕: กองเซ็นเซอร์
หลังจากที่คณะกรรมการเซ็นเซอร์ คณะที่ ๓  ได้ชมภาพยนตร์เป็นครั้งที่สอง,  ผู้สร้างภาพยนตร์ มานิต ศรีวานิชภูมิ ถูกเรียกเข้าไปตอบคำถาม และความกังวลต่างๆ ของคณะกรรมการ  โดยเฉพาะการใช้สีแดงในภาพยนตร์  ซึ่งเป็นสีที่ผู้สนับสนุนรัฐบาล ณ เวลานั้นสวมใส่  ซึ่ง “อาจจะสร้างภาพลบให้แก่เสื้อแดง” คณะกรรมการบอกให้มานิตกลับมาวันที่ ๒ เมษา  ซึ่งจะเป็นวันตัดสินใหม่  หลังการชมภาพยนตร์เป็นรอบที่สาม

๒ เมษายน ๒๕๕๕ : กองเซ็นเซอร์
ผู้สร้างภาพยนตร์มานิต และผู้กำกับ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์  มาตามนัด ๑๐ โมงเช้าที่กองเซ็นเซอร์  แต่กองเซ็นเซอร์บอกให้กลับมาอีกครั้งตอนเที่ยง  พอกลับมาอีกตอนเที่ยง  กองเซ็นเซอร์บอกให้กลับมาใหม่ตอนบ่าย  จนบ่ายแก่ๆ ยังไม่มีคำตัดสิน  กองเซ็นเซอร์บอกให้กลับมาวันต่อไป

๓ เมษายน ๒๕๕๕ : กองเซ็นเซอร์
โปรดิวเซอร์และผู้กำกับกลับมาที่กองเซ็นเซอร์ตอน ๑๐ โมงเช้าตามนัด  เส้นตายสำหรับการพิจารณาคือบ่าย ๔ โมงวันนี้  หากว่าคณะกรรมการไม่สามารถตัดสินใจได้จะถือว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถจัดจำหน่ายได้ตามปกติ
            สุดท้ายหลังจากที่รอจนบ่าย ๒ โมง จนท. บอกว่าคณะกรรมการได้ตัดสินแล้ว  จนท. ไม่บอกว่าคำตัดสินออกมาอย่างไร  และเรียกให้ทั้ง ๒ คนเข้าไปคุยกับคณะกรรมการเซ็นเซอร์เป็นครั้งสุดท้าย  การพูดคุยครอบคลุมพื้นที่เรื่องเดิม  (การใช้สีแดง) แต่เพิ่มข้อใหม่ โดยมีการเน้นย้ำถึงฉากรุมตี  ทั้งที่ฉากนี้ปรากฏเด่นชัดอยู่ในภาพยนตร์ตัวอย่าง ซึ่งผ่านการพิจารณาของกรรมการกองเซ็นเซอร์โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด  ฉากนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพข่าวเหตุการณ์หนึ่งในช่วง ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ที่มีการสังหารหมู่ผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตย  อันเป็นบาดแผลเป็นลึกของชาติ 
หลังจากเกือบชั่วโมง กรรมการบอกให้ทั้ง ๒ ออกไปรอฟังคำตัดสินด้านนอก  จนเวลาเหลือน้อยกว่า ๑ ชั่วโมงก่อนจะขาดเส้นตายตอน ๔ โมงเย็น  จนท. จืงมาบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ห้ามฉายและจัดจำหน่ายในประเทศไทย  ด้วยเหตุผลทางความมั่นคงแห่งชาติ  เนื่องจากว่าอาจ ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ

**  **  **  **

๑๗ เมษายน ๒๕๕๕ : ทำเนียบรัฐบาล
ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักแสดงจากภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย"  ยื่นหนังสืออุทธรณ์ พร้อมรายชื่อผู้สนับสนุน จำนวน ๕๑๔ รายชื่อต่อนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำเนียบรัฐบาล ในฐานะผู้เป็นประธานคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ  ขอให้ยกเลิกมติห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สาทิตย์ สุทธิเสริม รองผู้อำนวยการฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่องอุทธรณ์
            วันเดียวกัน  มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่กำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และคณะกรรมการฯ มีระยะเวลา ในการพิจารณา ๓๐ วัน ที่จะพิจารณาการอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕

๒๔ เมษายน ๒๕๕๕ : กระทรวงวัฒนธรรม
อนุกรรมการด้านกฎหมายของกระทรวงวัฒนธรรม  เรียกโปรดิวเซอร์มานิตเข้าให้การ  หลังการประชุม ๒ ชั่วโมง คณะอนุกรรมการดูจะให้ความหวังว่าจะมีการยกเลิกคำสั่งห้ามฉาย กรรมการถามมานิตว่า ถ้าให้เรทติ้งสูงสุดคือ 20+  (ห้ามคนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีเข้าชม) จะยอมรับได้หรือไม่ มานิตตอบว่ายอมรับ

๒๕ เมษายน ๒๕๕๕ : คำตัดสินการอุทธรณ์
คำตัดสินการอุทธรณ์ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมได้แถลงต่อสื่อไว้ว่าจะประกาศวันนี้ กลับเลื่อนออกไปถึงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม

๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕ :
คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติชมภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ห้องฉายภาพยนตร์ที่เช่าเป็นการพิเศษที่กันตนาแลป ตอนบ่าย ๒ โมง โปรดิวเซอร์มานิตได้รับโทรศัพท์จากสำนักงานของท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา เรียกให้ตัวเขาและผู้กำกับมาประชุมที่สำนักงานท่านที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้

๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ : ทำเนียบรัฐบาล
ผู้สร้างภาพยนตร์มาถึงทำเนียบรัฐบาล ตอน ๙ โมงเช้าตามนัด เจ้าหน้าที่ให้ไปรออยู่ในห้องประชุม พร้อมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานศิลปะร่วมสมัย (กระทรวงวัฒนธรรม) ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนส่งเสริมสร้างภาพยนตร์ ตอน ๑๐ โมงเช้า จนท.แจ้งว่าพลเอกยุทธศักดิ์ ยังมาไม่ถึง ขอให้ไปพบกับผู้ช่วยของท่าน พลเอกจงศักดิ์ พาณิชกุล ตัวแทนท่านในสำนักงานส่วนตัวของท่านพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหารอีก ๒ ท่าน ซึ่งเป็นผู้ช่วย ทั้งหมดได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว และบอกว่าชอบ พลเอกจงศักดิ์เล่าความคิดเห็นของพลเอกยุทธศักดิ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แต่งตั้งให้นั่งเป็นประธานคณะกรรมการภาพยนตร์แทนตัวท่านนายกฯ ในเรื่องนี้ ว่าท่านยุทธศักดิ์ไม่เข้าใจว่าทำไมคณะกรรมการเซ็นเซอร์ถึงได้สั่งแบนภาพยนตร์เรื่องนี้ และปล่อยให้เรื่องล้นหลามเลยเถิดมาจนถึงทำเนียบรัฐบาล ตัวท่าน (ยุทธศักดิ์) เองเคยได้ดู แม็คเบ็ธในโรงละครที่ลอนดอน และหลังจากดู เชคสเปียร์ต้องตายท่านเห็นว่า “ถ้าดูด้วยใจไม่อคติมันก็ไม่มีอะไรน่าห่วงเลย แต่ถ้าดูแบบหาเรื่อง มันก็เป็นปัญหาทุกฉาก”
            โดยสรุป พลเอกจงศักดิ์บอกทั้งสองให้  “ทำใจสบายเพราะเรื่องนี้จะจบด้วยดี  แต่ต้องประนีประนอมเพื่อรักษาหน้ากรรมการเซ็นเซอร์  คุณคงจะต้องเจอเรทติ้ง 20+ ยอมรับได้หรือไม่”  ทั้งสองตอบว่ารับได้

๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ : กระทรวงวัฒนธรรม
บ่าย ๒ โมง คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ ประชุมรอบสุดท้ายในการพิจารณาภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย(รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธานแทนนายกยิ่งลักษณ์) ที่กระทรวงวัฒนธรรม การประชุมพูดถึงเรื่องอื่นก่อน และเมื่อถึงประเด็นการตัดสินอุทธรณ์ให้ยกเลิกคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงทั้งหมด รวมทั้งหัวหน้าสำนักงานกองเซ็นเซอร์ (ข้าราชการ - ไม่ใช่กรรมการเซ็นเซอร์) ถูกสั่งให้ออกจากห้องประชุมทั้งหมด มานั่งรออยู่กับผู้สร้างภาพยนตร์และนักข่าว
            พลเอก ยุทธศักดิ์ออกมาก่อน โดยพยายามหลีกเลี่ยงนักข่าวที่เข้าไปรุมถามท่าน ดูท่านเครียดและอึดอัด และไม่ยอมพูดอะไร นอกจาก “เดี๋ยวเขาจะบอกสิ่งที่อยากจะรู้” แล้วก็รีบลงลิฟท์ไป
            หลังจากรออยู่นาน จนท.ที่ถูกส่งออกมาจากห้องประชุม ถูกเรียกให้กลับเข้าไป สุดท้ายเมื่อประตูห้องประชุมเปิดออก ทุกคนรวมทั้งท่านรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม สุกุมาล คุณปลื้ม และปลัดกระทรวง สมชาย เสียงหลาย รีบเดินออกโดยไม่ยอมแถลงข่าว ทั้งที่นักข่าวเข้ารุมซักถามก็ไม่ยอมตอบ ปล่อยให้รองปลัดกระทรวง อภินันท์ โปษยานนท์ รับมือกับฝูงนักข่าวแต่เพียงคนเดียว ท่านรองปลัดดูลำบากใจอย่างเห็นได้ชัด ท่านบอกทั้งนักข่าวและผู้สร้างภาพยนตร์ พร้อมๆ กันว่า ท่านเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีคุณค่าทางศิลปะ และท่านไม่สบายใจกับการตัดสินครั้งนี้ ที่คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติเห็นควรให้คงคำสั่งห้ามฉายของกองเซ็นเซอร์  นอกจากนี้ท่านยังเห็นว่า พรบ.ภาพยนตร์นั้นเป็นกฎหมายที่มีปัญหาและควรแก้ไขให้เข้ากับความเป็นจริงในปัจจุบัน  เป็นอันว่าการอุทธรณ์ถูกปฏิเสธ
            ยิ่งไปกว่านั้น  คำสั่งห้ามฉายห้ามจัดจำหน่ายถูกเสริมเติมแต่งด้วยข้อกล่าวหาที่มีลักษณะใส่ร้ายให้ความ : บางฉากยังมีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศ นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ ๓ ได้แจ้งให้ผู้อุทธรณ์ พิจารณาแก้ไขเนื้อหาสาระบางส่วนที่ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ แต่ผู้อุทธรณ์แจ้งว่าเป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จึงยืนยันไม่แก้ไข คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ จึงมีมติยกอุทธรณ์...”

**  **  **  **

๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ : คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งสองยื่นหนังสือร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน  ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง และสิทธิสื่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และ เลขาธิการกรรมสิทธิ์มนุษยชน ดร.วีรวิทย์ วีรวรวิท เป็นผู้รับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิ

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ : วุฒิสภา
ท่ามกลางการประท้วงต่อต้าน พรบ.ปรองดอง รอบรัฐสภา  ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งสองฝ่าฝูงชนที่ปิดล้อมสภา  เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรรมาธิการวุฒิสภา  โดยวุฒิสมาชิก ประธานกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพ สิทธิการเมือง และสิทธิผู้บริโภค สมชาย แสวงการ เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน

๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ : คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
การไต่สวนครั้งแรก โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน   รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ เป็นตัวแทนกระทรวง

๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ : คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
การไต่สวนรอบสอง โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน   ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สมชาย เสียงหลาย และทีมทนายความเป็นตัวแทนกระทรวง

ปลายเดือนกรกฎาคม : คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ,ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง และสิทธิสื่อ  บอกโปรดิวเซอร์มานิตทางโทรศัพท์ว่า  คณะกรรมการเห็นว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าได้มีการละเมิดอำนาจและละเมิดสิทธิในการสั่งห้ามฉาย เชคสเปียร์ต้องตาย  เอกสารเป็นทางการจะออกมาภายในสามเดือน

๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ : วุฒิสภา
การไต่สวนโดยคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ด้านสิทธิเสรีภาพ สิทธิการเมือง และสิทธิผู้บริโภค  ตัวแทนกรรมการเซ็นเซอร์ คือนายสามารถ จันทร์สูรย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามกรรมการเซ็นเซอร์ที่ไม่ยอมเซ็นคำสั่งห้ามฉาย ประธานไต่สวนคือ วุฒิสมาชิก มณเฑียร บุญตัน (การไต่สวนได้บันทึกไว้)
          ภาพที่ปรากฏชัดขึ้นจากการไต่สวน คือ การสั่งห้ามฉาย เชคสเปียร์ต้องตาย เกิดขึ้นจากบรรยากาศทางการเมืองที่กดดัน และตัว พรบ.ภาพยนตร์เองนั้นเปิดโอกาสให้มีการละเมิดอำนาจ จึงสมควรแก้ไขในอนาคต

๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ : ศาลปกครอง
โปรดิวเซอร์มานิต ศรีวานิชภูมิ (ผู้ร้อง ๑) และผู้กำกับ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ (ผู้ร้อง ๒) ยื่นฟ้องศาลปกครอง กรณีละเมิดอำนาจโดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ที่ ๓ (ผู้ถูกร้อง ๑), คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ (ผู้ถูกร้อง ๒) และกระทรวงวัฒนธรรม (ผู้ถูกร้อง ๓)
            ทีมทนายความสิทธิมนุษยชนจากสภาทนายความ ที่อาสาช่วยต่อสู้คดีนั้น  นำโดย อาจารย์วสันต์ พานิช ซึ่งเคยต่อสู้คดีวิสามัญฆาตกรรมในสงครามยาเสพติด, คดีความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้  และคดี ๖ ตุลามหาวิปโยค (ดูเอกสารฉบับเต็ม)

๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๕ : คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา
ผลการประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา มีข้อสรุปว่า คำสั่งห้ามฉายดังกล่าวละเมิดสิทธิ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และแสดงออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และกฎหมายภาพยนตร์สมควรต้องแก้ไข ตามนี้:

สรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ครั้งที่ ๒๗/๒๕๕๕ วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๕
.) พิจารณาสรุปเรื่องร้องเรียนกรณีคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติมี
มติห้ามฉายภาพยนตร์ไทย เรื่องเชคสเปียร์ต้องตายในราชอาณาจักร  เสนอโดย  นายมานิต ศรีวานิชภูมิ  และนางสาวสมานรัชฎ์  กาญจนะวณิชย์  ผู้ร้องเรียน  โดยอนุกรรมาธิการคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา  ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิและเสรีภาพ ได้สรุปข้อคิดเห็นต่อเรื่องร้องเรียน คือ
. พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ..๒๕๕๑ มีบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้ง
กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๙ ซึ่งได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งตามมาตรา ๒๖ () – () และมาตรา ๒๙ ของพระราชบัญญัติฯ ได้ให้อำนาจคณะกรรมการฯในการใช้ดุลพินิจออกคำสั่ง ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอให้มีการทบทวนแก้ไขพระราชบัญญัติฯ เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
. การบริหารจัดการภาครัฐของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมขาดการบูร
ณาการ  ขาดความเป็นเอกภาพและความเชื่อมโยงกัน  กล่าวคือ  สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยซึ่งเป็นหน่วยงานพิจารณาให้เงินสนับสนุนในการสร้างภาพยนตร์  กับ  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม  ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้พิจารณามีคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์   ต่างอยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมแต่กลับมีวิธีปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกันซึ่งถือเป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อผู้สร้างภาพยนตร์และประโยชน์ของรัฐ  ดังนั้น  กระทรวงวัฒนธรรมจึงควรมีการทบทวนแนวทางการทำงานของส่วนราชการ หรือแก้ไขปรับปรุง กฎ  ระเบียบ  ให้เกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น” (ดูเอกสารฉบับเต็ม)

[นางสาวอริษา ทองทับทิม นิติกรปฏิบัติการ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ผู้สรุปผลการประชุมวันศุกร์ที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๕]

๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ : ศาลปกครอง
ศาลปกครองมีคำสั่งรับคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 1321/2555

**  **  **  **

๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖ : สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ
ผู้รายงานพิเศษในประเด็นสิทธิทางวัฒนธรรมและผู้รายงานพิเศษในการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออกแห่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ  ได้ออกหนังสือถึงรัฐบาลไทย  แสดงความกังวลว่าการแบนภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย อาจถือเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพของนายมานิต ศรีวานิชภูมิ และ น.ส.สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์  ในการแสดงออกในทางศิลปะ  และสิทธิที่ทั้งสองควรมีในการมีส่วนร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรมและเสรีภาพที่ขาดไม่ได้สำหรับกิจกรรมที่สร้างสรรค์   ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามขั้นตอนตามที่จำเป็นที่จะเรียกคืนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก  ตามหลักพื้นฐานที่กำหนดไว้ในมาตรา19  แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  และมาตรา 15  แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรม
ในหนังสือยังมีคำถามต่อรัฐบาลไทยว่า  การออกคำสั่งห้ามฉายของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์  และการมีอยู่ของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 23 และ 29 นั้น  เป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานของสิทธิเสรีภาพหรือไม่  อย่างไร   และถามด้วยว่าศาลปกครองและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีคำสั่งต่อกรณีนี้อย่างไร (ดูเอกสารฉบับเต็ม)

เมษายน ๒๕๕๖ : รายงานสิทธิมนุษยชนของสหรัฐอเมริกาประจำปี ๒๕๕๕
คำสั่งห้ามฉาย เชคสเปียร์ต้องตาย ปรากฏอยู่ในรายงานสิทธิมนุษยชนของกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา  (The US Departmentof State's Annual Human Rights Country Report on Thailand) เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน  สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไทยโดยรัฐบาลไทย  (หน้า ๒๕)

**  **  **  **

๒๕ เมษายน ๒๕๕๖  : ศาลปกครอง
นายสอาด  บุณยโยธิน  พนักงานอัยการ  สำนักงานคดีปกครอง  สำนักงานอัยการสูงสุด  ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม โต้แย้งคดีทางเอกสารโดย ย้ำความเดิมที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง  เป็นต้นว่า :
“...ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแจ้งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ของประเทศไทย จึงยืนยันไม่ขอแก้ไขใดๆ...” (หน้า ๖)
“...ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแจ้งว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ของประเทศไทย จึงยืนยันไม่ขอแก้ไขใดๆ...” (หน้า ๖)
“...ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแจ้งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า  ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ของประเทศไทย   จึงยืนยันไม่ขอแก้ไขใดๆ ...ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑  มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมเนื้อหาสาระของภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไม่ให้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม  เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ประสงค์จะแก้ไขหรือตัดทอน  จึงมีมติไม่อนุญาต” (หน้า ๑๒)

“...สื่อโฆษณาภาพยนตร์เป็นการนำเอาตัวอย่างภาพยนตร์บางตอนบางฉากที่น่าสนใจมานำเสนอ และลำดับเหตุการณ์ต่างๆ เป็นตอนๆ ซึ่งไม่ตรงกับเนื้อหาสาระของภาพยนตร์ โดยจัดสร้างเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์นั้นให้ดูแล้วน่าติดตามมากขึ้นเท่านั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ร่วมกันพิจารณาสื่อโฆษณาภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วมีมติอนุญาตแล้ว... ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอคัดค้านว่า เมื่อได้ดูเนื้อหาสาระของสื่อโฆษณาภาพยนตร์แล้วมีเนื้อหาสาระที่แตกต่างไปจากตัวภาพยนตร์อย่างสิ้นเชิง  แม้สื่อโฆษณาภาพยนตร์จะนำเอาบางฉากบางตอนของภาพยนตร์มาสร้าง [รวมทั้งฉากที่รับแรงบันดาลใจจากภาพข่าว ๖ ตุลา]  แต่มิได้เป็นเรื่องราวที่ทำให้ผู้ที่ได้รับชมเข้าใจในเนื้อหาสาระเหมือนตัวภาพยนตร์ที่สร้างให้เกิดความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ...” (หน้า ๙)

“...กรณีผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่า เหตุการณ์ทำนองเดียวกับภาพยนตร์ เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย ได้รับการเผยแพร่เป็นภาพยนตร์แล้ว เช่น ภาพยนตร์ เรื่อง มหาลัยสยองขวัญ... ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามขอคัดค้านว่า... ได้ใช้ดุลยพินิจในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างรอบคอบและอยู่ในกรอบของกฎหมายแล้วตามข้อเท็จจริง... ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพยนตร์เรื่อง  เชคสเปียร์ ต้องตาย  แล้ว มีเนื้อหาที่แสดงถึงคนดูละครได้เข้าทำร้ายคณะนักแสดงและมีการจับผู้กำกับละครแขวนคอ และทุบตีด้วยสิ่งของ เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  เป็นช่วงที่เกิดความแตกแยกกันทางความคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วในสังคมประเทศไทยและเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง  และเป็นความแตกแยกด้านอุดมการณ์และความคิดเห็นของคนในชาติที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน   อันเป็นการส่งผลกระตุ้นให้เกิดพฤติการณ์เลียนแบบให้ก่อความรุนแรง  ความไม่สงบ  ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก  ประกอบกับเนื้อหาสาระของภาพยนตร์เรื่องนี้ดูแล้วก่อให้เกิดความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติขึ้นมาได้ ซึ่งแตกต่างจากภาพยนตร์เรื่อง มหาลัยสยองขวัญ...”(หน้า ๑๐ - ๑๑)

“...แม้ว่าบทภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย ดัดแปลงมาจากบทละครเรื่อง โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ (The Tragedy of Macbeth)  ผู้ฟ้องคดีทั้งสองย่อมสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนผ่านรูปแบบของภาพยนตร์ได้ตามสิทธิที่มีในรัฐธรรมนูญ   แต่แสดงความคิดเห็นนั้นต้องไม่ขัดกฎหมาย  ไม่เกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด  และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  รวมถึงไม่ก่อให้เกิดความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติด้วย...”(หน้า ๑๑)
           
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแจ้งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ของประเทศไทย  จึงยืนยันไม่ขอแก้ไขใดๆผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นว่า  ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.. ๒๕๕๑ มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมเนื้อหาสาระของภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไม่ให้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม  เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ประสงค์จะแก้ไขหรือตัดทอน  จึงมีมติไม่อนุญาต…” (หน้า ๑๒)

“ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ขอรับรองว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีชื่อเสียงหรือได้รับรางวัลหรือมีผลงานตามที่กล่าวอ้างในคำฟ้องข้อ ๒ เป็นความจริงหรือไม่” (หน้า ๑๓)

“...แม้ภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย สร้างขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหาก ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ในการตรวจพิจารณา สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมิได้มีอำนาจในการตรวจพิจารณา...”(หน้า ๑๓)

“..ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามฟ้องนั้น เป็นการกล่าวอ้างเกินความจริง หรือฝ่าฝืนความจริง  ทั้งเป็นการกล่าวอ้างแต่เพียงลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาล  เช่น  ๑.ค่าจ้างนักแสดง จำนวน ๔๕๕,๐๐๐ บาท  ซึ่งสูงเกินความเป็นจริง...” (หน้า ๑๔)
“ค่ากล้องและอุปกรณ์ จำนวน ๘๖๘,๖๔๓.๙๕ บาท...จำนวนเงินค่าเช่ากล้องสูงเกินความเป็นจริง อันเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยไม่ตรงกับความเป็นจริง...”(หน้า ๑๖(ดูเอกสารฉบับเต็ม)


๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ : ศาลปกครอง
ผู้สร้าง เชคสเปียร์ต้องตาย ยื่นเอกสารโต้แย้งการให้การของคณะกรรมการเซ็นเซอร์
ผู้ฟ้องที่ ๒ (ผู้กำกับ) :
“1/  ข้อสำคัญที่สุดคือ เราถูกเลือกปฏิบัติ คณะกรรมการอ้างว่า เรารุนแรงเกินไป – ต้องตัด  แต่ในความเป็นจริง ภาพยนตร์ที่รุนแรงกว่าเรากลับผ่านฉลุยและฉายอยู่ทั่วไป อันนี้เป็นหนึ่งพยานหลักฐานแวดล้อมที่บ่งชัดว่า ฉาก 6 ตุลา ไม่ใช่ประเด็นที่แท้จริง เป็นเพียงแต่เงื่อนไขที่ “สะดวกซื้อ”
2/  ข้อสังเกตอื่นๆเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ คณะกรรมการเซ็นเซอร์ในกรณี เชคสเปียร์ต้องตาย ที่ส่อเค้าถึงความผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิบัติต่อภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ คือ

-          ธรรมดาคณะกรรมการดูเพียงครั้งเดียวก็จะวินิจฉัยทันที  แต่กรณีของ เชคสเปียร์ต้องตาย  คณะกรรมการต้องดูถึง 3 ครั้ง  และแสดงอาการหวาดกลัว (ไม่ใช่กลัวเรา แต่กลัว การเมือง)  ช่วงแรกๆข้อข้องใจมีหลายเรื่องที่ฟังดูไร้สาระ  จนส่อพิรุธว่า มีลักษณะหาเรื่อง  เช่น  การใช้ตัวหนังสืออักษรไทยในฉาก  ทั้งที่เป็นหนังไทยที่ทำให้คนไทยดู  และสร้อยคอนางเอก  (นัยว่าเป็น เพชรซาอุ  ทั้งที่สร้อยคอดังกล่าวเป็นพลอยสีฟ้า) เป็นต้น  ที่เน้นหนักคือการใช้สีแดง  (ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง อันธพาล ของสหมงคลฟิล์มได้รับอนุญาตให้ใช้ป้ายผ้าแดงขนาดใหญ่ติดทั่วเมือง – ในเวลาเดียวกัน – เขียนว่า “แดงจะกลับมา – อันธพาล”  และทั้งๆที่ลิเกไทยมีธรรมเนียมให้เพชฌฆาตโพกผ้าแดง  ซึ่งเราก็เอามาจากธรรมเนียมลิเกนี้)

-          การซักถามของคณะกรรมการ  และความวกวนลากยาวของขบวนการ  ซึ่งไม่เคยมีภาพยนตร์ใดเจอมาก่อน ชวนให้ผู้สร้างมานิตรู้สึกว่ามีสิ่งผิดปกติ  และการยกเอา ฉาก 6 ตุลา มาเป็นเงื่อนไขปัญหาในท้ายที่สุด น่าจะเป็นเพียงข้ออ้าง  เพราะภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาพาดพิงหรือเกี่ยวโยงกับ 14 และ 6 ตุลานั้น ก็เคยผ่านเซ็นเซอร์มาแล้วหลายเรื่อง  (มหาลัย สยองขวัญ’,  ‘ฟ้าใสใจชื่นบาน  และ October Sonata เป็นต้น)

-          ผู้สร้างมานิตถามว่า  ถ้าผมตัดนี่คุณรับประกันว่าผ่านใช่หรือไม่  คณะกรรมการตอบว่า ไม่รับประกัน  ไม่ได้สั่งให้ตัด  แต่ขอให้ไป “แก้ไข” ตามสมควร  ซึ่ง “รุนแรงน้อยกว่าตัด”  ซึ่งกำกวมและวกวน  ยิ่งทำให้ชวนสงสัยว่าเป็นข้ออ้างที่ไม่แท้จริงและไม่จริงใจ   และไม่ว่าเราทำอย่างไรก็จะไม่ให้ฉาย  เพียงแต่คณะกรรมการหาเหตุผลที่ฟังดูมีเหตุผล  (และไม่กระทบต่อเครดิต ประชาธิปไตย ของรัฐบาล) กว่านี้ไม่ได้

3/  คำให้การของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ไม่น่าเชื่อถือ   เพราะในผลของการอุทธรณ์ที่ยืนตามคำสั่งห้ามฉายของคณะกรรมการเซ็นเซอร์  มีการอ้างว่า  คณะกรรมการได้ให้การกับฟิล์มบอร์ดว่า “ผู้สร้างยืนยันว่าเป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
            คำให้การของคณะกรรมการต่อฟิล์มบอร์ดนี้ เป็นการบิดเบือนความจริง ใส่ความ และให้ร้าย เพราะเราไม่เคยยืนยันเช่นนั้นเลย (มีบันทึกเสียงพิสูจน์ได้)
                เราบอกว่า เราได้แรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายข่าว 6 ตุลา และให้สังเกตว่ากล้องจับอยู่ที่สีหน้า และปฏิกิริยาของคนที่มามุงมาเชียร์ความรุนแรง  มากกว่าที่ผู้กระทำความรุนแรงและศพ  จึงเห็นได้ชัดว่า  จุดมุ่งหมายของเราคือ  อยากให้คนดูเกิดสติ  ไม่ลุกขึ้นฆ่ากันเองหรือเชียร์/ข่มขู่ให้เกิดความรุนแรงเหมือนเช่นในอดีต  (และปัจจุบัน)  ที่ประชาชนถูกปลุกปั่นให้เกลียดชังและฆ่ากันเอง
4/  ภาพยนตร์ตัวอย่างซึ่งมีฉากดังกล่าวอยู่ด้วย  ได้รับอนุญาตจากกองเซ็นเซอร์ให้ฉายได้  นี่เป็นอีกพยานหลักฐานที่ชี้ชัดให้เห็นว่าข้อข้องใจของคณะกรรมการไม่ใช่ฉากนี้ เพียงแต่ยกฉากนี้ขึ้นมาอ้างเป็นเหตุแบนหนัง  โดยอาศัยความอื้อฉาวของคำว่า “6 ตุลา”
                ในการไต่สวนโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา ซึ่งรับคำร้องเรียนของผู้สร้าง เชคสเปียร์ต้องตาย ไปพิจารณาว่ามีการละเมิดสิทธิหรือไม่ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2555  สมาชิกวุฒิสภา  บุญเลิศ คชายุทธเดช กล่าวว่า “แต่ข้อเท็จจริงที่มันปรากฏ และมันถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับหนัง และมันกลายมาเป็นเหตุผล ก็คือ ประเทศนี้พอดีมีพระมหากษัตริย์  ประเทศนี้มีทักษิณ  ทักษิณได้ชื่อว่าเป็น ท่านผู้นำ และก็ถูกโจมตีว่ามักใหญ่ไฝ่สูงจะเป็นประธานาธิบดี  ไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้  คณะกรรมการที่ไปแบนเนี่ย  อยู่ในใจด้วยหรือเปล่า?”
            สามารถ จันทร์สูรย์ (กรรมการเซ็นเซอร์ท่านเดียวที่ยอมรับคำเชิญไปการไต่สวน  ทั้งที่เป็นหนึ่งในสามท่านที่ไม่ได้เซ็นคำสั่งห้ามฉาย)  ตอบว่า  “ถามว่ากรรมการได้คิดเหตุการณ์ที่ท่านว่ามั้ย – เอ่อ – ท่านที่อยู่นอกประเทศอะไรงี้ครับ  เราไม่ได้คิดหรอกครับ   อาจจะคนเค้า – อาจจะมีคนอื่นพูด   ผมก็ได้ยินคนอื่นพูดเหมือนกัน   ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้คนคิดได้เยอะมาก  คนมีความเชื่ออย่างก็คิดอย่าง”
5/  สิ่งที่พิสูจน์ให้แจ่มแจ้งว่าการพิจารณาของคณะกรรมการเซ็นเซอร์นั้นขึ้นอยู่กับแรงกดดันทางการเมือง หรือ ใบสั่งคือกรณีของภาพยนตร์สารคดี ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ที่เพิ่งถูกสั่งห้ามฉาย แต่แล้วภายใน 24 ชั่วโมง ก็มีการกล่าวขอโทษผู้กำกับโดยตรงว่า “เป็นการเข้าใจผิด” และให้ผ่านได้ (โดยให้ดูดเสียง 2 วินาทีที่เกี่ยวข้องกับพระเจาอยู่หัว) และได้รับ rating (เรทติ้ง) อายุ 18 ไม่ใช่ 20+ ด้วยซ้ำ การล้มคำสั่งห้ามฉายนี้ไม่ต้องผ่านขั้นตอนอุทธรณ์ ทั้งที่ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในกรรมการที่สั่งห้ามฉาย
            และในคำสั่งห้ามฉายในกรณี ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง นั้น คณะกรรมการเขียนเหตุผลไว้อย่างละเอียด ซึ่งตรงกันข้ามกับกรณี เชคสเปียร์ต้องตาย ซึ่งเขียนเพียงว่า มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ
            อนึ่ง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูงมีเนื้อหาที่คล้องจองและเกื้อหนุนทัศนคติของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (เรื่องเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองและเขาพระวิหาร) ซึ่งรัฐบาลเดียวกับที่สั่งห้ามฉาย เชคสเปียร์ต้องตายการปฏิบัติต่อ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง และ เชคสเปียร์ต้องตายโดยคณะกรรมการเซ็นเซอร์นั้นต่างกันราวฟ้ากับดิน
               
คำโต้แย้งของผู้ฟ้อง ๑ (ผู้อำนวยการสร้าง) ต่อคำให้การผู้ถูกฟ้องลงวันที่ 25 เมษายน 2556 :

1/ การเลือกใช้กฎหมาย และกฎกระทรวง (ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องหรือไม่?)
ข้ออ้างในหน้า 6  ที่ว่า
            เนื่องจากวันเวลาที่ตรวจพิจารณานั้น ยังไม่มีการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยมีการออกกฎกระทรวงเมื่อเดือนตุลาคม 2555 จึงใช้กฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 ในการตรวจพิจารณา ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551...

            ประเด็นนี้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะนับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ในเดือนตุลาคม 2552 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดพิมพ์ คู่มือการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ อันเป็นกฎกระทรวงเพื่อกำหนดลักษณะประเภทของภาพยนตร์ หรือ เรตติ้ง (Rating) ขึ้น เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์ และผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดทั้ง บิดา มารดา ผู้ปกครอง เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้เข้าใจหลักเกณฑ์ของการพิจารณาภาพยนตร์ระบบใหม่นี้ (ดูเอกสารแนบ)
            ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องกลับไม่นำกฎกระทรวงที่มีการประกาศดังกล่าวมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ผู้ถูกฟ้องได้มีการบังคับใช้กฎกระทรวงนี้ไปแล้วด้วยการให้ เรตติ้งภาพยนตร์ อาทิ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร และอีกมากมาย
            จึงถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องเลือกปฏิบัติต่อผู้ฟ้องอย่างไม่เป็นธรรม

2/ ข้ออ้างเรื่องการเสนอความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเนื้อหาก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ
            ในการประชุมเพื่อพิจารณาภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีจำนวน 5 คน จากทั้งหมด 7 คน ได้เชิญนายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และนางสาวสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เข้าร่วมชี้แจงด้วย โดยได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองพิจารณาแก้ไขภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีเนื้อหาสาระบางส่วนที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแจ้งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ของประเทศไทย จึงยืนยันไม่ขอแก้ไขใดๆ...
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอยืนยันว่า ไม่เคยพูดว่าภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย นำเสนอความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แม้แต่น้อย เนื้อหาที่แท้จริงโดยย่อของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ
            เรื่องราวตำนานแห่งการเมืองและไสยศาสตร์ที่แปลเป็นไทยอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับละคร โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ’ (The Tragedy of Macbeth) ของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ (เกิด พ.ศ. 2107 มรณะ พ.ศ.2159) กวีเอกของโลกสัญชาติอังกฤษ โดยมีการดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาของภาพยนตร์และเข้ากับบริบทของวัฒนธรรมไทย      หนังผีเชคสเปียร์เรื่องนี้ ดำเนินเรื่องไปพร้อมๆ กันในสองโลก : ในโลกของโรงละคร---โลกของขุนพลกระหายเลือด มักใหญ่ใฝ่สูง งมงายในไสยศาสตร์ ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นราชาโดยฆาตกรรม และโลกภายนอกในชีวิตร่วมสมัยของนักปกครองเผด็จการของประเทศสมมติแห่งหนึ่ง ผู้ที่งมงายในไสยศาสตร์, โหดเหี้ยม และบ้าอำนาจ ซึ่งมีชื่อเรียกเพียงว่าท่านผู้นำและภริยาไฮโซน่าสะพรึงกลัวของท่าน เหตุการณ์ต่างๆในสองโลกแฝดนี้ ส่องสะท้อนกันและกัน ค่อยๆ เริ่มซึมเข้าหากัน  กระทั่งสุดท้าย  มันจึงประสานงากันอย่างรุนแรงและโหดร้าย เมื่อคณะละครต้องชดใช้ด้วยชีวิต โทษฐานบังอาจอุตริแสดงละครเรื่องนี้ในสังคมที่ปกครองโดยมนุษย์เช่นท่านผู้นำ  พวกเขาคิดอย่างไรที่จะต่อสู้กับความกลัวด้วยศิลปะ?”  
            ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ ความกระหายอำนาจของผู้ปกครองที่ขาดคุณธรรม มิได้เกี่ยวข้องอย่างไรเลยต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพียงแต่ผู้สร้างภาพยนตร์ได้รับแรงบันดาลใจในการถ่ายทำฉากทำร้ายผู้กำกับละครเวทีโดยกลุ่มอันธพาลของผู้นำเผด็จการ โดยนำภาพถ่ายเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2515 อันน่าเศร้าสลดซึ่งบันทึกโดย นายนีล ยูเลฟวิช ช่างภาพสำนักข่าวเอพี มาเป็นแนวทางในการถ่ายทอดความรุนแรงเท่านั้น
            และหากจะกล่าวถึงรูปแบบความรุนแรงนั้น ฉากดังกล่าวนี้ก็รุนแรงน้อยมากเมื่อเทียบกับภาพยนตร์แอ็คชั่นหรือสยองขวัญที่ได้รับอนุญาตให้ออกฉายอยู่ทั่วๆไป หรือแม้แต่ภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ที่ได้รับการจัดประเภท ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู โดยในภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตายนั้น จะเห็นว่าทั้งผู้กำกับ ทั้งกล้อง และการตัดต่อ  ไม่ได้จับจ้องอยู่ที่ผู้กระทำความรุนแรงและศพที่ถูกแขวนคออยู่  แต่จับจ้องอยู่ที่ใบหน้าและปฏิกิริยา การแสดงออกถึงความสะใจ บ้าคลั่ง ของกลุ่มคนที่มายืนส่งเสียงเชียร์และหัวร่อต่อความรุนแรงที่บังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเขา (ซึ่งตรงกับอิริยาบถของไทยมุงในภาพข่าวเอพี) เห็นชัดจากนี้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการปลุกจิตสำนึกผู้ชมให้เกิดสติและปัญญา  ได้คิดว่าครั้งหนึ่งสิ่งเลวร้ายนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว  เมื่อประชาชนปล่อยให้ตนเองเคลิบเคลิ้มไปกับการปลุกปั่นโดยโฆษณาชวนเชื่อที่มีเจตนาแฝงร้าย  มุ่งหวังให้ประชาชนลุกขึ้นฆ่ากันเอง  มันเป็นความหวังของผู้ฟ้องคดีทั้งสองว่า ผู้ชมที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้จะรู้สึกสะอิดสะเอียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนั้น และเห็นพ้องกับเราว่า ไม่มีเหตุผลใดที่จะลุกขึ้นมาฆ่ากันเอง
            เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่มีความชัดเจนตั้งแต่การประชุมพูดคุยระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กับผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ในวันที่ 3 เมษายน 2555 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่เคยแจ้งเงื่อนไขอันเป็นเด็ดขาดในทางปกครองว่า หากผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไม่ดำเนินการตัดฉากทุบตีผู้กำกับละครในภาพยนตร์ที่เลียนแบบเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ออก จะไม่อนุญาตให้นำออกฉาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กลับเพียงแต่ขอให้ถอนภาพยนตร์ออกไปเพื่อ ปรับปรุง ซึ่งมีความหมายกว้างมากเกินกว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะปฏิบัติได้ ความไม่ชัดเจนต่อคำตัดสินดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในบันทึกการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะ 3 (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ซึ่งออกให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ในวันเดียวกัน คือ 3 เมษายน 2555 โดยมีใจความสำคัญดังนี้
            คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ข้อ 7 (3)
            จึงมีมติ ไม่อนุญาต โดยจัดเป็นประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 (7) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ. 2551
            และเมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ทางคณะกรรมการฯดังกล่าวได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นด้านกฎหมายและด้านวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่ง เพื่อสอบสวนข้อเท็จ โดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้มีโอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง ต่อทางคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการฯดังกล่าวมิได้ติดใจสงสัยต่อฉาก 6 ตุลา ทั้งยังกล่าวอีกว่า เรื่องนี้น่าจะมีทางออก หนึ่งในคณะอนุกรรมการหญิงท่านหนึ่งยังสอบถามผู้ฟ้องคดีที่ 1 อีกว่า หากไม่ได้เรตส่งเสริมตามที่ขอ แต่ได้เรตที่สูงกว่าจะยอมรับหรือไม่ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวว่า จะเป็นเรตอะไรก็ได้ ที่คณะกรรมการเห็นสมควรให้ผ่าน แม้จะเป็น + 20 ก็ตาม
แต่เมื่อผลการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กลับออกมายืนยันคำสั่งห้ามฉายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2, ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 2 จึงผิดหวังและประหลาดใจเป็นอันมาก โดยเฉพาะคำตัดสินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่มีถ้อยคำอันเป็นการบิดเบือนคำชี้แจงของผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่ว่า แต่ผู้อุทธรณ์แจ้งว่าเป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงยืนยันไม่แก้ไข (ดูเอกสารแนบคำตัดสินอุทธรณ์ เชคสเปียร์ต้องตาย โดยคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ)
            ผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอยืนยันว่า ไม่เคยบอกผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอความจริงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (ดูคำถอดเทปเสียง บันทึกการซักถามระหว่างผู้ถูกฟ้องที่ 2 และผู้ฟ้องคดีทั้งสอง หน้า 12)
            อนึ่ง วันที่ 4 พฤษภาคม 2555 พลเอกจงศักดิ์ พาณิชกุล ผู้ช่วยพลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ณ ขณะนั้น ได้เรียกผู้ฟ้องคดีทั้งสองเข้าพบ เพื่อสอบถามประเด็นปัญหาของการอุทธรณ์คำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตาย โดยมีผลการพูดคุยที่ออกมาในทางบวกต่อภาพยนตร์อย่างย่อดังนี้
            พลเอกจงศักดิ์: “ท่านรองนายกท่านดูแล้ว ดูแล้วก็อยากถามผู้กำกับว่าทำหนังเรื่องนี้เพื่ออะไร
            สมานรัชฎ์ (ผู้ฟ้องคดีที่2): “เพื่อให้คนไทยได้สัมผัสเชคสเปียร์ และเรื่องแมคเบ็ธนี้เป็นละครที่ชอบมากที่สุด คนส่วนใหญ่ก็ชอบเรื่องนี้มากที่สุด เพราะมันเหมือนหนังผีที่สนุก และเข้ากับทุกสังคมและวัฒนธรรม จึงได้มีนักทำหนังจากทั่วโลกเอาไปทำหลายครั้งหลายหน ทั้งญี่ปุ่น อินเดีย ไต้หวัน ฮอลลีวู้ด จนนับไม่ถ้วน เด็กนักเรียนอายุ 15 ก็ต้องเรียนเรื่องนี้มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว”
            พลเอกจงศักดิ์: “นี่ผมไม่เคยทราบว่า มีการทำหนังเรื่องนี้ออกมาทั่วโลก ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร โดยความจริงใจ ท่านรองนายกฯ ก็ไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้ควรขึ้นมาถึงบนนี้เชียวหรือ? ข้างล่างก็เหมือนโยนเผือกร้อนมาข้างบน แค่เซนเซอร์หนัง ต้องเอารองนายกฯ ไปดู มันเกินไป ตอนนี้ท่านก็กำลังยุ่งอยู่กับเรื่องบัวขาว วันนี้เรามาหาทางออกที่มันวินๆ ทุกฝ่าย ผมไม่ใช่คนฟันธงแต่ผมจะหาวิธีให้ทุกฝ่ายแฮปปี้หมด
            พลเอกจงศักดิ์กล่าวต่อ: “หนังเรื่องนี้มันมีบางอันมันล่อแหลม-ล่อแหลมต่อการหยิบเอาไปพูด ระดับคนดูมันไม่ใช่พวกเรา มันมีชาวบ้าน มีอะไร...”
            มานิต (ผู้ฟ้องที่ 1) พูดเรื่องปัญหาของ พรบ.ภาพยนตร์ ที่จัดเรตติ้งแต่ยังคงการแบน และการใช้มาตรการนี้กลั่นแกล้งคนทำหนังที่ไร้ค่าย และเล่าการซักถามของกรรมการเซนเซอร์ซึ่งฟังดูไม่จริงใจ เช่น ถามเรื่องสร้อยคอนางเอก และกล่าวหาว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พลเอกจงศักดิ์หัวเราะและบอกว่าอันนี้ รัฐบาลเราก็ถูกกล่าวหาเหมือนกัน                    
พลเอกจงศักดิ์: “มีปัญหานิดเดียว เราไม่อยากหักกรรมการข้างล่าง ท่านรองนายกเข้าใจ เพราะท่านเคยดูแมคเบ็ธแล้วที่ลอนดอน ท่านพูดอยู่คำเดียว ถ้าคนมาหาเรื่อง ก็หาเรื่องได้ทุกๆ ฉาก แต่ถ้าดูด้วยใจเป็นธรรม มันก็ไม่มีอะไร
พลเอกจงศักดิ์กล่าวต่อ: “สรุปคือ เรื่องนี้น่าจะจบลงด้วยการประนีประนอมโดยต้อง “รักษาหน้า” ของกรรมการเซนเซอร์ด้วยการให้เรท 20+ จะรับได้ไหม”
มานิตและสมานรัชฎ์ตอบว่า รับได้
พลเอกจงศักดิ์: “ทำใจให้สบาย แล้วรอฟังมติอุทธรณ์วันที่ 11 พค. ซึ่งน่าจะประนีประนอม”

3/  เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ปรากฏอยู่ในคำสั่งห้ามสร้างเป็นภาพยนตร์ตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2552
อีกทั้งเหตุการณ์ดังกล่าวในอยู่ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ระดับมัธยมปลาย และมหาวิทยาลัย หากเรื่องราวจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะนำมาสู่การแตกสามัคคีของคนในชาติ หลักสูตรการศึกษาย่อมไม่บรรจุเนื้อหานี้เข้าไปด้วยอย่างแน่นอน ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปอ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ที่

หนังสือเรียน ประวัติศาสตร์ไทย ชั้น ม.4-6 (นำร่องหลักสูตรฯ 2551) - เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด 9/99 ซอยลาดพร้าว 38 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กทม. 10900 Tel. (02) 938-2022-7 FAX: (02) 938-2028

เนื้อหาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ยังสามารถอ่านได้ที่
ประมวลเหตุการณ์จากเว็บไซต์วิกิพีเดีย

ทั้งสามารถดูภาพยนตร์ข่าวเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากเว็บไซต์ยูทูป


ภาพถ่ายข่าวเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากเว็บไซต์กูเกิลเสิร์ซ

จะเห็นได้ว่าหากเนื้อหาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ ทั้งหนังสือ ตำราเรียน เว็บไซต์ต่างๆย่อมมิได้รับอนุญาตให้เผยแพร่เป็นปกติทั่วไป

            อนึ่ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 2 นำภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาใช้ในงานสร้างสรรค์ศิลปะสะท้อนปัญหาสังคมและการเมืองไทย
            ในผลงานภาพถ่ายชุด ปีศาจสีชมพู (Horror in Pink) ผู้ฟ้องคดีที่ 1 นายมานิต ศรีวานิชภูมิได้นำภาพข่าวเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, ภาพข่าวเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และภาพข่าวพฤษภาคม 2535 มาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ศิลปะโดยนำภาพถ่ายผู้ชายใส่สูทสีชมพูพร้อมด้วยตะกร้ารถเข็นสีชมพูเช่นเดียวกัน มาตกแต่งลงในภาพข่าวทั้งสามชุดดังกล่าว เพื่อย้ำเตือนมิให้สังคมไทยหลงลืมวีรชนที่ได้สละชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ที่ผู้คนในยุคปัจจุบันได้รับอานิสงส์ โดยผลงานดังกล่าวได้จัดแสดงในนิทรรศการ ประวัติศาสตร์และความทรงจำ (History & Memory) ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่าง 15 สิงหาคม 1 กันยายน 2544 และยังได้เดินทางไปแสดง ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2545 และยังได้ร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะ 14 ตุลา ผ่านสายตาศิลปิน ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ระหว่าง 9 18 ตุลาคม 2546
           
ภาพผลงาน

คำบรรยายภาพ: ปีศาจสีชมพู หมายเลข 1 (ผลิตเมื่อ พ.ศ. 2544), ความคิดสร้างสรรค์โดย มานิต ศรีวานิชภูมิ, ภาพถ่ายต้นฉบับจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดย นีล ยูเลฟวิช สำนักข่าวเอพี

                ในผลงานชุด ไทยมุง (พ.ศ.2551) ผู้ฟ้องคดีที่ 2 นางสาวสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมสีน้ำเพื่อตั้งคำถามต่อสังคมไทยถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะภาพถ่ายเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งถ่ายโดย นีล ยูเลฟวิช ว่าเหตุใดบุคคลในภาพเหล่านั้นถึงแสดงความยินดี ส่งเสียงเชียร์ต่อการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนของชายผู้หนึ่งซึ่งกำลังใช้เก้าอี้พับกระหน่ำตีศพนักศึกษาผู้ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งถูกแขวนคออยู่ใต้ต้นมะขาม กลางท้องสนามหลวง
            ผลงานชุดไทยมุงนี้ได้จัดแสดงร่วมกับศิลปินท่านอื่นในนิทรรศการศิลปะ อดีตหลอน: ประวัติศาสตร์และความทรงจำ 6 ตุลา 19ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ระหว่าง 2 23 สิงหาคม 2551

ภาพผลงาน




               คำบรรยายภาพ: ไทยมุง จิตรกรรมสีน้ำโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ (ผลิตเมื่อ พ.ศ. 2551)

               
ผลงานศิลปกรรมที่มีเนื้อโดยตรงต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 รวมทั้งการจัดแสดงผลงานและการเผยแพร่ผลงานในรูปสิ่งตีพิมพ์สูจิบัตร การประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชนในวงกว้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่ผ่านมาไม่เคยพบเหตุการณ์การประท้วง หรือพบอุปสรรคแต่อย่างใด
            ดังนั้น ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 1 และ 2 จึงมิอาจรับฟังได้ อีกทั้งเป็นการคาดคะเนสถานการณ์อย่างเลื่อนลอย เกินจริง โดยที่ไม่มีเหตุการณ์เทียบเคียงมาประกอบดุลพินิจแต่อย่างใด


4/ ประเด็นเรื่องความรุนแรงนั้น ตามประกาศกฎกระทรวงได้กำหนดประเภทภาพยนตร์ (Rating) ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 1 และ 2 สามารถปฏิบัติได้ แต่กลับไม่ปฏิบัติตาม

5/ ประเด็นความไม่ชัดเจนของคำสั่งทางปกครอง
ทางผู้ถูกฟ้องคดีที่2 มิเคยชี้แจงให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทราบเลยว่า หากไม่ดำเนินการแก้ไข ภาพยนตร์จะไม่ผ่านการพิจารณา ทั้งมิได้ระบุให้ชัดเจนเป็นคำพูดและลายอักษรว่า ฉากไหน หรือคำพูดใด ณ ช่วงเวลาใดของภาพยนตร์นั้นมีเนื้อหาเข้าข่าย ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ  มีแต่ขอให้ถอนภาพยนตร์ออกจากการพิจารณาและนำไป ปรับปรุงแก้ไข แม้แต่ฉากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อ้างว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า เป็นการนำเสนอเหตุการณ์จริงจาก 6 ตุลาคม 2519 ทางผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยังไม่แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบอย่างเด็ดขาดว่า หากไม่ตัดฉากดังกล่าวนี้ออกไป จะไม่ยอมให้ผ่านการพิจารณา
อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็มิสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดฉากที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงไม่สามารถนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ ทั้งที่กฎกระทรวงก็มิได้มีคำสั่งห้ามแต่อย่างใด ความไม่ชัดเจนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่อาจปฏิบัติตามได้ ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า เมื่อมีพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่มีหัวใจหลักเป็นไปเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จึงมีการนำระบบ การจัดประเภทภาพยนตร์ หรือ Rating มาใช้ตามมาตรฐานสากล ภาพยนตร์ของผู้ฟ้องคดีย่อมต้องได้รับการอนุญาต แม้จะเป็นประเภทที่รุนแรงคือ ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู 20-ก็ตาม นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทางผู้ฟ้องคดียืนยันที่จะไม่ขอแก้ไขใดๆ และเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ยื่นขอรับการจัดประเภทภาพยนตร์แบบ ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู เพราะเนื้อหาภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตายเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ เรื่องศีลธรรม อีกยังทั้งได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนไทยเข้มแข็ง สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมอีกด้วย
            แม้ในชั้นอุทธรณ์, คณะอนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นด้านกฎหมายและด้านวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่ง ที่ตั้งขึ้นโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังไม่เสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตัดฉากที่เรียกตากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า ฉาก 6 ตุลาคม 2519 ออกแต่อย่างใด เพียงแต่ได้สรุปตอนท้ายของการซักถามว่า เรื่องนี้น่าจะมีทางออก
ในฐานะผู้อยู่ใต้การปกครองของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เมื่อเจ้าพนักงานขาดความเด็ดขาดชัดเจน ย่อมเป็นเรื่องยากที่ผู้ใต้ปกครองจะปฏิบัติตามได้
อนึ่ง การแก้ไขภาพยนตร์เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับตัวเนื้อหาของภาพยนตร์ คุณค่าความเป็นศิลปะของภาพยนตร์ และเกี่ยวข้องกับตัวงบประมาณค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หากไม่มีเหตุผลชัดเจนอันสมควรย่อมเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติตามได้

6/ คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดี แสดงให้เห็นถึงความสับสน ไม่เข้าใจการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย
            ในคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดี ข้อ. 7 หน้า 10 บรรทัดที่ 19 21 ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพยนตร์ เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย แล้วมีเนื้อหาที่แสดงถึงคนดูละครได้เข้าทำร้ายคณะนักแสดงและมีการจับผู้กำกับละครแขวนคอ และทุบตีด้วยสิ่งของ เป็นต้น
            ข้อ. 8 หน้า 11 บรรทัดที่ 13 ภาพยนตร์เรื่องนี้โดยมีเนื้อหาที่แสดงถึงคนดูละครได้เข้าทำร้ายคณะนักแสดงและมีการจับผู้กำกับละครแขวนคอและทุบตีด้วยสิ่งของ เป็นต้น
            ข้อ. 9 หน้า 12 บรรทัดที่ 9 เช่น เนื้อหาที่แสดงถึงคนดูละครได้เข้าทำร้ายคณะนักแสดงและมีการจับผู้กำกับละครแขวนคอ และทุบตีด้วยสิ่งของ เป็นต้น
            ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 1 และ 2 สับสนต่อฉากข้างต้น ซึ่งที่ถูกต้องนั้น คือ มีกลุ่มอันธพาลโพกผ้าแดงที่ศีรษะ นำโดยสมุนมือขวาของประธานาธิบดีเผด็จการที่เรียกว่า ท่านผู้นำ ได้บุกเข้ามาในโรงละครที่กำลังแสดงละครล้อเลียนท่านผู้นำ แล้วลงมือทุบตีผู้ชม และลากผู้กำกับละครออกไปแขวนคอ ทุบตีด้วยเก้าอี้พับ
            ในเหตุการณ์นี้กำลังแสดงให้เห็นว่า ประเทศสมมุตในเรื่องเชคสเปียร์ต้องตายนั้น ถูกปกครองด้วยประธานาธิบดีที่มีจิตใจโหดเหี้ยม มีสมุนลูกน้องเป็นอันธพาลเที่ยวทุบตีผู้คนที่วิพากษ์วิจารณ์ ท่านผู้นำ มิใช่เรื่องความแตกแยกทางความคิดทางการเมืองแต่อย่างใด

7/  คำสั่งรุนแรง
คำวินิจฉัยว่าภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย มีเนื้อหาก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ เป็นการวินิจฉัยที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ เป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 1 และ 2 ที่ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ ขณะที่ธรรมชาติของการจัดฉายภาพยนตร์และการเข้าถึงสื่อประเภทนี้มีอย่างจำกัด แตกต่างจากสื่อสารมวลอื่นที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า เช่น โทรทัศน์, หนังสือพิมพ์, วิทยุ และอินเตอร์เน็ต อีกทั้งจำนวนผู้ชมก็มีจำนวนน้อย จึงไม่อาจเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย หรือสร้างความแตกแยกได้แต่ประการใด
            อนึ่ง เหตุการณ์ของความแตกแยกในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่า ภาพยนตร์เป็นชนวนหรือสาเหตุแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬ 2535, เมษายน 2552 และพฤษภาคม 2553 ที่เพิ่งผ่านไป

8/  การเลือกปฏิบัติระหว่างกรณี เชคสเปียร์ต้องตาย และ กรณีฟ้าต่ำแผ่นดินสูง
          ในกรณีภาพยนตร์ที่ถูกมติห้ามฉายโดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ผู้สร้างภาพยนตร์สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 15 วัน ต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ โดยจะใช้เวลาในการพิจารณาและต้องแจ้งผลการอุทธรณ์ภาพใน 30 วัน ซึ่งกรณีภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตายได้ปฏิบัติตามระเบียบนี้อย่างครบถ้วน
            หากแต่เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ต้องคำสั่งห้ามฉายในราชอาณาจักรเช่นกัน ทั้งนี้นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ว่า คณะกรรมการต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ขัดกับกฎกระทรวงที่กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ข้อ 7 เนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ อีกทั้งการนำเสนอข้อมูลบางเหตุการณ์ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล โดยไม่มีบทสรุปทางเอกสาร สำหรับกรณีดังกล่าว ผู้สร้างภาพยนตร์สามารถยื่นเรื่องขออุทธรณ์คำพิจารณามายังคณะอนุกรรมการฯได้
โดยเนื้อหาของคำสั่งห้ามฉายดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
1. บทบรรยายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ถูกต้อง ดังเช่น ในนาที 0.29 "งานฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 84 พรรษา" เมื่อนำเหตุการณ์มาเชื่อมโยงกับสถาบันฯ แล้วให้ชื่อว่า "ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง" อาจทำให้ผู้ดูแปลความหมายไปในทางที่คลาดเคลื่อน เพราะรายละเอียดของภาพยนตร์ไม่ได้สอดรับกับชื่อ หรือผู้สร้างคิดและต้องการสื่ออะไร? เหตุการณ์ที่นำมาเผยแพร่อ้างว่าเป็น สารคดี แต่เป็นการสรุปความเห็นโดยผู้จัดทำ ซึ่งบางเหตุการณ์ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ยังไม่มีบทสรุปที่เป็นเอกสารอื่นใดมาประกอบการอ้างอิงให้ชัดเจนและเหตุการณ์เหล่านั้น เกิดขึ้นจริงหรือไม่? เช่น นาที 1.48 พื้นที่นี้ "เคยมีการปิดล้อมสังหารหมู่ กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างจังหวัด" นาที 1.58 "มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน" นาที 2.04 "ชาวกรุงเทพและกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยหลายคนสนับสนุน และรู้สึกสะใจกับการปราบปรามการชุมนุมในครั้งนี้นาที 2.09 รัฐบาลไทยในสมัยนั้นอ้างว่าเป็นการกระทำของมือที่ 3 เพื่อสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายรัฐบาลนาที 2.17 “กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงและผู้สนับสนุนเชื่อว่เป็นการกระทำของรัฐบาลและทหารนาที 2.29 “ชาวกรุงเทพฯและผู้ไม่สนับสนุนหลายคนกล่าวชื่นชมรัฐบาลและทหารนาที 2.44 “ชาวต่างจังหวัดถูกปรามาสว่าโง่ เห็นแก่เงินนาที 45.00 “รัฐบาลไทยและกัมพูชา จดทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกฯลฯ การบรรยายด้วยตัวอักษรในภาพยนตร์ ที่ให้ข้อสังเกต ในบางช่วงขัดแย้งกับภาพ เพราะในภาพเป็นวิวในชนบท
2. เนื้อหามีความหมายในลักษณะก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดระหว่างคนในชาติ ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคี เป็นลักษณะที่ต้องไม่มีตามกฎกระทรวง ข้อ 7(3)
3. เนื้อหากระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ในกรณีที่มีการนำภาพทหารชายแดนยิงต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม และการนำภาพลักษณะที่ตั้งของหลุมหลบภัย และการพูดถึงทหารเขมร ทำการย้ายหลักเขตแดน เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน เป็นลักษณะที่ต้องไม่มีตามกฎกระทรวง ข้อ 7 (4)
คณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาและภาพของภาพยนตร์ดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อ และไม่ควรอนุญาตให้เผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามกฎกระทรวงเรื่อง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ข้อ7 (3) และ 7 (4)

            ทั้งที่ได้ชี้แจงเหตุผลในการสั่งห้ามฉายออกมาอย่างละเอียด เป็นนาทีต่อนาที ตรงกันข้ามกับกรณี เชคสเปียร์ต้องตายซึ่งไม่มีรายละเอียดใดๆเลย มีเพียงบอกว่า ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ
            เพียงสองวันให้หลัง คือ วันที่ 25 เมษายน 2556 สำนักงานพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ติดต่อผู้ผลิตภาพยนตร์ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง และขอโทษในความผิดพลาดทางขั้นตอนการพิจารณาว่า มติไม่อนุญาตให้เผยแพร่ในราชอาณาจักรไทยนั้น เป็นเพียงแค่มติของอนุกรรมการ ไม่ใช่มติของคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งโดยปกติสำหรับภาพยนตร์ที่ไม่อนุญาตให้เผยแพร่นั้น จำเป็นต้องเรียกผู้ผลิตมาชี้แจงก่อนและต้องผ่านมติกรรมการชุดใหญ่ และกรรมการชุดใหญ่เพิ่งมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์และมีมติให้เผยแพร่ได้สำหรับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยมีคำขอร้องให้ดูดเสียงในช่วงต้นความยาว 2 วินาที ในช่วงงานเฉลิมฉลองปีใหม่ที่แยกราชประสงค์ โดยพิธีกรบนเวทีได้พูดว่า เรามาร่วมเคาท์ดาวน์และร่วมฉลองให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 84 พรรษา ออก ทางทีมผู้สร้างภาพยนตร์เห็นว่า เสียงในช่วงนั้นเป็นเสียงบรรยากาศที่ไม่ใช่ประเด็นสาระสำคัญของเนื้อหาภายในภาพยนตร์ จึงยินดีที่จะดูดเสียงในช่วงนั้นออก โดยในส่วนๆที่ทางคณะอนุกรรมการได้แจ้งในครั้งก่อนนั้นว่าไม่เหมาะสม ทางคณะกรรมการชุดใหญ่ไม่ติดใจอะไร และให้คงเนื้อหาทั้งหมดไว้ดังเดิม
จะเห็นว่ากรณีภาพยนตร์ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ผู้สร้างภาพยนตร์มิต้องดำเนินการแต่อย่างใดเลย ไม่ต้องเข้าชี้แจงเหตุผล ไม่ต้องยื่นอุทธรณ์ อีกทั้งคำสั่งเงื่อนไขของการอนุญาตให้ฉายนั้นมีความชัดเจน ปฏิบัติง่าย หากแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สร้างความคลางแคลงใจและสงสัยต่อผู้สร้างภาพยนตร์รายอื่นๆ เป็นไปได้หรือที่ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมผู้ลงลายเซ็นคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้กับมือจะไม่ทราบระเบียบปฏิบัติ ฝ่ายเลขาธิการของคณะอนุกรรมการฯที่มีท่านปลัดกระทรวงฯเป็นประธานจะไม่ทักท้วงว่าผิดระเบียบขั้นตอนแต่อย่างใดหรือ การกลับมติเพียงชั่วไม่ถึงสองวันเกิดขึ้นได้อย่างไร
นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนต่อการเลือกปฏิบัติของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ

9/ ขอยืนยันว่าค่าใช้จ่ายนั้นเป็นความจริง มิได้ยกเมฆ เรื่องนี้สามารถให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสร้างภาพยนตร์มาประเมินราคาได้ ส่วนกรณีชื่อบนใบเสร็จ ไม่ตรงกับชื่อหนังนั้น ในกระบวนการผลิตภาพยนตร์มีเรื่องความลับทางธุรกิจ เพราะไม่ต้องการให้คู่แข่งทราบความก้าวหน้า หรือขัดขวางกระบวนการสร้าง เช่น โทรไปบังคับห้องแล็บห้ามรับงานภาพยนตร์ของคู่แข่งได้ เรื่องนี้สามารถขอหลักฐานยืนยันจากผู้ออกใบเสร็จได้ว่า เป็นการทำงานให้กับภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตายจริง

๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คณะกรรมการสิทธิฯ มีข้อสรุปว่า คำสั่งห้ามฉายของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และเห็นสมควรทบทวนคำสั่งห้ามฉาย  โดยให้จัดอยู่ในประเภทภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป   และขอเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. 2551   แต่เนื่องจากว่า  เรื่องนี้กำลังเป็นคดีความอยู่ในศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิฯ จึงขอยุติการดำเนินการแต่เพียงเท่านี้ (ดูเอกสารฉบับเต็ม)

**  **  **  **

๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐ : ศาลปกครอง
ศาลปกครองออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และน.ส.สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ แถลงต่อศาล (ดูเอกสารประกอบ : คำแถลงต่อศาลปกครอง 5 ก.ค. 2560

๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ : ศาลปกครอง
ศาลปกครองนัดอ่านคำพิพากษา เวลา ๑๐.๐๐ น.
ณ ห้องพิจารณาคดี ๑๐
 ชั้น ๓ 
ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ



ขอบคุณที่มาสรุปเนื้อหาบางส่วน จาก https://freedom.ilaw.or.th/case/316