คำแถลงต่อศาลปกครอง วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐

23.7.17













คำแถลงต่อศาลปกครอง ๕ .. ๒๕๖๐
โดยผู้กำกับ เชคสเปียร์ต้องตาย



ข้าแต่ศาลที่เคารพ 

ข้าพเจ้าเชื่อว่า กฎหมายมีไว้รักษาธรรมในสังคม  นี่คือเหตุผลที่ข้าพเจ้าจำใจต้องต่อสู้เพื่อความถูกต้อง  ทั้งที่ซาบซึ้งดีเป็นอย่างยิ่งว่าการต่อสู้กับผู้มีอำนาจเหนือชะตากรรมของภาพยนตร์ไทยนั้น ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผู้กำกับภาพยนตร์คนไหนพร้อมจะทำ  ในอุตสาหกรรมที่ผู้เปี่ยมอิทธิพลที่มีอยู่ไม่กี่คนนั้นมีอำนาจล้นฟ้า และคนอื่นๆที่เหลือล้วนไร้อำนาจในการต่อรองโดยสิ้นเชิง

เมื่อภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งถูกสั่งห้ามฉาย  นั่นคือการประหารชีวิตภาพยนตร์เรื่องนั้น  ซึ่งหนักหนาและรุนแรงกว่าโทษเมาแล้วขับ หรือแม้กระทั่งนักการเมืองที่โกงเลือกตั้งเสียอีก  ที่แบนเพียงชั่วคราวทั้งที่สร้างหายนะมหาศาลต่อประเทศชาติ 

ยิ่งกว่านั้น  การใช้กฎหมายแบนภาพยนตร์  ซึ่งใช้อำนาจตามดุลยพินิจของคณะกรรมการ  เปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจในทางที่ผิด  ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย  และไม่ชอบธรรม  โดยการเลือกปฏิบัติหลายมาตรฐานตามอำเภอใจของผู้ใช้อำนาจ  ดังนี้ :
               
                กรณีภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’  ปรากฏขึ้นเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา  ว่าข้าพเจ้าถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมโดยเจตนา  เมื่อมีกรณีการกลับมติคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์สารคดี “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” จากห้ามฉาย   เป็นอนุญาตให้ฉายได้   โดยมีเงื่อนไขเพียงดูดเสียงบางช่วงตอนของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกเท่านั้น   ทั้งนี้โดยมิต้องผ่านขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งห้ามฉายแต่อย่างใด
               
กรณีฟ้าต่ำแผ่นดินสูงนั้น   แสดงให้ข้าพเจ้าและสาธารณชนเห็นชัดว่า    กระบวนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ   ไม่มีความเที่ยงธรรมและเสมอภาคในทางปฏิบัติ   สามารถรวบรัดตัดตอนได้ตามอำเภอใจ

การรวบรัดตัดขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งห้ามฉายโดยที่เจ้าของภาพยนตร์ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง  มิได้เป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง  แต่กระทำโดยคณะกรรมการฯเอง  ซึ่งเกิดขึ้นหลังมีคำสั่งห้ามฉายในวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๖ เป็นอนุญาตให้ฉายได้ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๖ หรือเพียง ๒ วันให้หลัง  นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์  ทั้งนี้ผู้แทนคณะกรรมการฯได้ออกมาแถลงกับสื่อมวลชนว่า  เป็นความเข้าใจผิดของทางอนุกรรมการฯ  และยังอ้างอีกว่า  ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนี้ ยื่นพิจารณาในประเภทหนังแผ่น (หนังเพื่อจำหน่ายและเช่ายืม)  มิได้ฉายในโรงภาพยนตร์ (ดูเอกสารข่าวแนบ ๒)  ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด  เพราะหลังจากผ่านการตรวจพิจารณาได้รับ เรทติ้ง (ประเภท) ๑๘+  ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ปกติทันที
๑.๒/  กระบวนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ถูกแทรกแซงทางการเมือง   ในกรณีฟ้าต่ำแผ่นดินสูงเห็นได้ชัด  เพราะในขั้นตอนการแถลงข่าวห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว  ๒๔ เมษายน ๒๕๕๖ นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นทั้งประธานอนุกรรมการตรวจพิจารณา และยังเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ  ได้ดำเนินการแถลงข่าวด้วยตนเอง (ดูเอกสารข่าวแนบ ๓)  เป็นไปไม่ได้ว่าข้าราชการระดับปลัดกระทรวงจะไม่ทราบกฎระเบียบขั้นตอนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์  การกลับมติคำสั่งห้ามฉายดังกล่าวจะกระทำมิได้  หากมิใช่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าปลัดกระทรวงวัฒนธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย

และเมื่อพิจารณาตัวเนื้อหาของสารคดีฟ้าต่ำแผ่นดินสูง  จะพบว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้สร้างภาพลักษณ์ด้านลบให้แก่รัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ต่อการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี ๒๕๕๓  ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้บริหารประเทศ ณ ขณะนั้น  การอนุญาตให้ฉายจึงยังประโยชน์โดยตรงต่อรัฐบาล

ในทางกลับกัน  การอนุญาตให้ภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย ออกฉาย  อาจกระทบต่อความรู้สึกของนักการเมือง ณ เวลานั้น  เนื่องด้วยเนื้อหาภาพยนตร์ได้สะท้อนชะตากรรมความโลภของผู้นำประเทศ  ซึ่งเป็นบทประพันธ์อมตะของกวีของโลกชาวอังกฤษที่เขียนไว้เมื่อกว่าสี่ร้อยปีมาแล้ว 
นี่จึงเป็นเหตุผลให้ข้าพเจ้าเชื่อว่า  การตรวจพิจารณาภาพยนตร์ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองผู้มีอำนาจ ณ เวลานั้น อย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากหลักฐานทางกฎหมายโดยตรง  ซึ่งพิสูจน์ว่าการสั่งห้ามฉาย เชคสเปียร์ต้องตาย  เป็นการใช้อำนาจกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไร้มาตรฐานและไม่เที่ยงธรรม  เนื่องด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องคือ ภาพยนตร์  ซึ่งเป็นสื่อและศิลปะแขนงหนึ่ง  จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน  ซับซ้อน มีผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง  ข้าพเจ้าใคร่ขออนุญาตใช้เวลาอธิบายผลกระทบ  ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวข้าพเจ้าเอง และต่อสังคมโดยรวม  จากการใช้กฎหมายนี้โดยละเมิดอำนาจ  ขาดความรับผิดชอบและขัดต่อหลักธรรมในสังคม

ขออนุญาตศาลนำข้อสรุปที่ข้าพเจ้าค้นพบ  จากประสบการณ์ต้องคำสั่งห้ามฉายผลงาน ซึ่งพวกเราหลายชีวิตได้ช่วยกันสานฝัน ฟันฝ่าทุ่มเททั้งกำลังกาย  กำลังทรัพย์  กำลังใจ  และเวลาหลายปี  สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างสุดฝีมือ  เนื่องด้วยข้าพเจ้าเชื่อว่ากรณี เชคสเปียร์ต้องตายหาใช่เพียงเรื่อง หนังผีเรื่องหนึ่งและความเจ็บปวดเสียหายส่วนตัวของข้าพเจ้าและหมู่คณะเท่านั้น   แต่เป็นคดีตัวอย่างที่เกี่ยวโยงต่อประเด็นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์  จึงอยู่ในความสนใจของประชาชน  และสามารถจุดประกายหรือดับความหวังให้แก่ผู้คนจำนวนมาก  ทั้งผู้สร้างภาพยนตร์และผู้ชมภาพยนตร์หรือสาธารณะชนทั่วไป

1. ผลกระทบทางวิชาชีพ
ผลกระทบทางวิชาชีพจากการใช้มาตรา 26(7) แห่ง พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ 2551 นั้น  นอกจากจะเป็นการข่มขู่ทำลายจิตใจและชีวิตการทำงานของผู้ผลิตภาพยนตร์รายที่ถูกแบน  ยังเป็นการทำลายขวัญของผู้สร้างภาพยนตร์ไทยทุกคนอีกด้วย

ภาพยนตร์ในมิติของ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
นอกเหนือจากประเด็นพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน – สิทธิในการประกอบวิชาชีพและสิทธิในการแสดงออกทางความคิด ซึ่งคุ้มครองสื่ออื่นๆ ในประเทศไทย ยกเว้นภาพยนตร์  ซึ่งทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยไร้สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีแล้วนั้น
ยังมีผลกระทบเชิงลบด้านการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในฐานะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อีกด้วย  เนื่องด้วยข้อ(7) ในมาตรา 26 เปิดช่องทางอำนวยให้เกิดการลุต่ออำนาจ การเลือกปฏิบัติ และการทำลายบุคคลที่รัฐในขณะนั้นๆเห็นว่าเป็นศัตรูทางการเมือง  ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยขาดความมั่นคงในวิชาชีพและการลงทุน
ตราบใดที่คนนิรนาม 7 คน ในห้องมืด ยังมีสิทธิตัดสินชะตากรรมของภาพยนตร์ ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ได้ทุ่มเทเวลา ทรัพย์สินและกำลังใจ มาเป็นเวลาหลายปี ตราบนั้น ความคล่องตัวทางความคิดและความมั่นใจในการลงทุน ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ย่อมจะเกิดมิได้ ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคน 7 คนนี้ ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ขาดหลักประกันและการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เฉกเช่นที่อาชีพอื่นได้รับ
เมื่อเป็นเช่นนี้ นายทุนจึงไม่กล้าเสี่ยงลงทุนกับบทภาพยนตร์ที่ “แตกต่าง” จากที่เคยเห็นมา หรือที่มีความคิดแปลกใหม่ สิ่งนี้ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไม่กล้าคิด ไม่กล้าสร้างสรรค์ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์ไทย “ไม่ไปไหนเสียที” เพราะต้องวนเวียนอยู่กับเรื่องไร้สาระ ไม่สามารถสำรวจปัญหาหรือด้านมืดของสังคมไทย ไม่สามารถแตะต้องเนื้อเรื่องและแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ของตนเอง
ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ของชาติอื่นโดยมากในโลก  มีสิทธิหยิบยืมแรงบันดาลใจจากทุกแง่มุมของชีวิต  ของโลก  และประวัติศาสตร์  จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า  ชาติใดที่มีเสรีภาพในการแสดงออกมากที่สุด  วัฒนธรรมและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของชาตินั้นจะแข็งแกร่งเข้มข้น  และดึงดูดผู้ชมจากทั่วโลก  มีผลผลิตที่ข้ามภาษา  ข้ามวัฒนธรรมได้  เพราะสร้างขึ้นจากบทภาพยนตร์ที่มีรากฐานอยู่บนเสรีภาพทางจินตนาการ
การที่ภาพยนตร์ไทยจะไปแข่งขันในตลาดกับเขาเหล่านี้นั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลย  เพราะรัฐบาลไทย และกฎหมายไทย  ส่งผู้สร้างภาพยนตร์ไทยขึ้นเวทีชกโดยที่มัดแขนมัดขาล่ามโซ่เอาไว้

เป็นมิตรกับศิลปิน
หากว่าประเทศไทยต้องการรายได้จากศิลปะ ประเทศไทยต้องไว้ใจศิลปิน รวมทั้งภาพยนตร์ เช่นเดียวกับที่เราไว้ใจแพทย์ในการแพทย์ ไว้ใจแม่ครัวในครัว ไว้ใจครูอาจารย์ ตำรวจ ทหาร ในการปฏิบัติวิชาชีพของตน ในการทำงานที่คนทั่วไปทำไม่ได้ และต้องไว้ใจผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนั้นๆ
ประเทศไทยต้องไว้ใจศิลปิน เลิกมองศิลปินเป็นศัตรูที่มีพิษภัย ซึ่งเป็นการมองที่ไม่เป็นมิตร ไม่ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่สร้างสรรค์
ตามครรลองคลองธรรม
ประเทศไทยต้องกล้าที่จะปล่อยให้ศิลปะไทยเป็นไป และเดินหน้าไปตามครรลองของมันอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะศิลปะเป็นผลจากแรงบันดาลใจ และปฏิกิริยาที่ศิลปินมีต่อสิ่งต่างๆ ในสังคมรอบตัวเขา ซึ่งได้ผ่านการกลั่นกรองโดยประสบการณ์ การตกผลึกของปัญญาและความรู้สึก และแสดงออกมาโดยความจริงใจ ศิลปะที่เกิดจากขบวนการตามครรลองคลองธรรมอย่างแท้จริงในลักษณะนี้ ที่สามารถงอกงามโดยไม่ถูกกดดันจำกัดขอบเขตและรบกวนสมาธิในการทำงานโดยคนภายนอกที่ไม่รู้จริง นี่คือศิลปะที่มีชีวิต มีพลัง
ศิลปะ รวมทั้งภาพยนตร์ ที่มีต้นกำเนิดจากโจทย์และขอบเขตข้อจำกัดที่รัฐตั้งธงไว้ให้ล่วงหน้า – คือศิลปะที่ถูกควบคุมนั้น – เป็นศิลปะที่ไร้ชีวิต สัจธรรมนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้
ศิลปะที่ไร้ชีวิตนั้นขายไม่ออก เนื่องจากว่ามันไม่สามารถสัมผัสชีวิตจิตใจของผู้ชม ไม่จุดประกายให้เกิดการสนทนาถกความที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดเป็น การรู้จักวิเคราะห์ปัญหา เพราะศิลปะที่ตาย  ไม่สามารถให้แรงบันดาลใจและกำลังใจต่อผู้ชม  นี่คือเหตุผลที่ภาพยนตร์ไทยไม่สามารถทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยในระดับที่ควรจะทำได้
ศิลปะแท้นั้นอยู่ไม่ได้  และเกิดไม่ได้  หากไม่มีเสรีภาพ   และศิลปะที่ถูกควบคุมนั้น  เป็นศิลปะที่ไร้ชีวิตและขายไม่ออก

เหตุผลทางธรรมาภิบาล – ป้องกันการทุจริตและการใช้อำนาจโดยละเมิด
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา  เห็นชัดว่าการแบนภาพยนตร์นั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางบรรยากาศการเมืองและค่านิยม  ที่มักเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะของผู้ที่เข้ามามีอำนาจในรัฐบาล  ยิ่งไปกว่านั้น  ในเมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ ผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมืองสามารถสั่งแบนภาพยนตร์ได้ทุกเมื่อ โดยข้ามหัวกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ตราบใดที่ยังมีมาตรา 26(7) ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
นี่จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำลายความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของผู้สร้างภาพยนตร์ และส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการทุจริตติดสินบน หรือการใช้อำนาจเหนือกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจกฎหมายที่ขัดต่อความเป็นจริงในปัจจุบัน

2. ผลกระทบต่อผู้ชมภาพยนตร์
นอกจากการเสียโอกาสของประชาชน ที่จะได้ชมภาพยนตร์เชคสเปียร์ที่ได้ทุนสร้างจากภาษีของประชาชนแล้ว   ยังมีผลกระทบเชิงลึกที่สำคัญอีกหลายประการ

เหตุผลและผลกระทบทางประชาธิปไตยเชิงลึก
แทนที่จะห้ามฉายภาพยนตร์ที่กรรมการเซ็นเซอร์เห็นว่าเป็นพิษภัยต่อสังคมหรือสร้างความแตกแยก ประเทศไทยควรให้โอกาสทุกฝ่ายสร้างภาพยนตร์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนและมุมมองของตน
หากว่าประเทศไทยมีศรัทธาในประชาชนและมีความกล้าหาญเช่นนี้  ผู้ชมในประเทศไทยก็จะได้รับชมทุกมุมมองและรสนิยม  ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทย  หากว่าเรามัวแต่แบนความคิดของกันและกัน  เราก็ไม่มีวันเข้าอกเข้าใจกันและกัน

สร้างภูมิต้านทานและความอดทนทางวัฒนธรรม
การที่ภาพยนตร์ไทยขาดเสรีภาพทางความคิด ทำให้ภาพยนตร์ไทยอ่อนแอ ไม่สามารถแข่งขันหรือต่อสู้กับอิทธิพลของอุตสาหกรรมโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งโดยธรรมชาติของมัน  ย่อมมีแต่นำพาให้จิตใจหยาบกร้านหมกมุ่นในวัตถุนิยม  นำพาไปสู่ปัญหาสังคมมากมายอย่างที่เห็นกัน
ภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพและเสรีภาพ  จะสามารถสร้างภูมิต้านทานทางความคิด  ที่จะนำไปสู่                   ความสมดุลระหว่างวัตถุและจิตวิญญาณในสังคมไทย
ขณะเดียวกัน เสรีภาพทางความคิดจะทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภาพยนตร์ไทย ซึ่งย่อมเป็นสิ่งที่ดีทั้งในการค้าและในการสร้างความอดทนทางวัฒนธรรม ในความพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นและรสนิยมที่แตกต่างจากความเคยชินของแต่ละคน อันเป็นรากฐานของประชาธิปไตย

การเผชิญหน้ากับความเป็นจริง
ความเป็นจริงในปัจจุบัน รวมทั้งโลกออนไลน์ หมายความว่า ไม่มีใครสามารถปิดกั้นการสื่อสารใดๆได้อีกในโลกนี้  ทำให้มาตรการแบนภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ไร้สาระโดยสิ้นเชิง  นอกจากจะไม่ได้ผลในการปิดกั้นข่าวสารข้อมูล  มันยังทำให้ประเทศและวัฒนธรรมอ่อนแออีกด้วย ทั้งเป็นการกีดกันปัญญาชนของประเทศออกไปจากบทสนทนาของชาติ  ซึ่งเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงของสังคมไทย

3. ผลกระทบทางสังคม
เราพูดกันตลอดเวลา  ว่าเราเป็นห่วงคุณภาพของคนไทยที่นับวันยิ่งโง่   ไอคิวเด็กไทยต่ำลงทุกครั้งที่สำรวจ   จนต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของโลกไปแล้ว
                ข้าพเจ้าไม่ได้ทำหนังเชคสเปียร์เพื่อความโก้เก๋  เพราะเห่อฝรั่ง  การแปลเชคสเปียร์เป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทายความสามารถถึงที่สุด  และต้องทุ่มเทตัวตนทำด้วยใจรัก  หาใช่สิ่งที่ใครจะลุกขึ้นมาทำกันง่ายๆ ด้วยคึกคะนอง  เพียงเพื่อจะด่านักการเมือง       
เชคสเปียร์มิได้เป็นเพียงกวีเอกของอังกฤษเท่านั้น  แต่เป็นกวีเอกของโลกคนหนึ่ง  ผลงานของเชคสเปียร์คือมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า  ซึ่งสอนให้คนรู้จักที่จะวิเคราะห์ตนเองและผู้อื่น  ข้าพเจ้าใคร่ตั้งคำถามว่า  เพราะเหตุใด  คนไทยจึงไม่มีสิทธิรับมรดกอันล้ำค่านี้?  มรดกที่คนชาติอื่นๆ ทั่วโลกเขาได้รับคุณประโยชน์กันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว  จะมีอีกกี่ครั้งที่จะมีคนไทยลุกขึ้นมาสร้างหนังจากละครเชคสเปียร์?  เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก  และอาจเป็นเรื่องสุดท้าย
                คนไทยเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกส่วนที่ไร้คุณประโยชน์ก็มากมาย  ส่วนที่เป็นพิษภัยก็มากมาย  ทั้งส่วนที่เป็นเพียงขนมขบเคี้ยวและที่เป็นยาพิษก็มากมาย  แล้วทำไมเราจึงเปิดรับวัฒนธรรมส่วนที่เป็นกะทิของเขาไม่ได้ ส่วนที่เป็นยาวิเศษ  เป็นวิตามิน ที่สร้างภูมิต้านทานทางวัฒนธรรมให้สาธารณชน  ส่วนที่ทำให้เขากลายเป็นประเทศมหาอำนาจ  ในขณะที่เรายังล้มลุกคลุกคลาน?  ท่านนึกภาพอังกฤษที่ไม่เคยมีเชคสเปียร์ได้หรือไม่?  ทำไมเราจึงต้อนรับเฉพาะวัฒนธรรมขยะของเขา  และกีดกันสิ่งที่ดีที่สุดของเขา?
           
4. ผลกระทบทางคุณธรรมและจิตวิญญาณ
ในยุคสมัยใหม่  ภาพยนตร์ของแต่ละชาติคือทารกแห่งจินตนาการของวัฒนธรรมนั้นๆ 
สื่ออื่นทุกสื่อนั้นมีกฎหมายคุ้มครอง โดยทฤษฎี โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ล้วนเป็นเสรี  แต่ภาพยนตร์นั้นต้องผ่านการพิจารณาก่อนฉาย  และถูกสั่งห้ามฉายได้ตามกฎหมาย  ทารกแห่งจินตนาการของนักทำหนัง  อาจถูกคนนิรนามเจ็ดคนตัดสินล่วงหน้าแทนคนทั้งชาติว่าเป็นพิษต่อสังคม  และสั่งประหารชีวิตได้ในที่นั้นทันที
                เพราะอะไร  ภาพยนตร์จึงเป็นที่หวั่นคร้ามเกรงกลัวมากถึงเพียงนี้    พรบ.ภาพยนตร์ของเรานั้น  เชื่อกันว่าเขียนขึ้นมาคุ้มครองสาธารณชนจากวัฒนธรรมที่มีพิษ  แต่ผลลัพธ์ของมันกลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม  กฎหมายนี้ไม่ได้ทำร้ายเฉพาะนักทำหนังอย่างเรา  แต่ทำร้ายสาธารณชนเช่นกัน  เรามีขุมทรัพย์แห่งเรื่องราวมากมายมหาศาลที่ยังไม่ได้ตักตวง  แต่กฎหมายและความหวั่นกลัวบีบบังคับให้เราต้องจำกัดความคิดตนเองอยู่ในกรอบแห่งความตื้นเขินและผิวเผิน  เราไม่ได้รับอนุญาตให้สำรวจตนเอง: หลากวัฒนธรรมของเรา, บาดแผลทางประวัติศาสตร์ของเรา, จิตวิญญาณของเรา
                สาธารณชนถูกป้อนปรนเปรอด้วยละครน้ำเน่า  หนังสยองขวัญ-หนังบู๊ที่ผิวเผิน ลองนึกดูว่าหากมีการห้ามใช้พริกในการปรุงอาหารไทย  เพราะเขาเห็นว่ามันแรงเกินไปสำหรับกระเพาะของเรา  แล้วคนไทยถูกบังคับให้กินเฉพาะอาหารฟาสต์ฟู้ดชุดเด็กตลอดชีวิต; นี่คือสภาวการณ์ของภาพยนตร์ไทย  ซึ่งย่อมเป็นสภาวการณ์ของจินตนาการแห่งสาธารณชนชาวไทย  การเซ็นเซอร์ทำให้เราจืดจางและอ่อนแอ โง่ ไหวพริบล่าช้า  ดัดจริตในศีลธรรม--ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่น่าใช่นิสัยดั้งเดิมอันแท้จริงของคนไทย
            ในความเพียรพยายามที่จะควบคุมจินตนาการของเรา  รัฐไทยมองสื่อและศิลปะทุกแขนงผ่านแก้วผลึกแห่งโฆษณาชวนเชื่อและการจัดระเบียบสังคม  เพราะรัฐเชื่อว่าคนเราสามารถจัดระเบียบสังคมให้ประชาชนเป็นคนดี  โดยการให้เลียนแบบตัวอย่างที่ดีงาม  และเก็บกดทุกแบบอย่างที่ดูชั่วร้ายอุจาดบาดตา
                นี่คือเหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการภาพยนตร์เห็นว่า แม็คเบ็ธฉบับของข้าพเจ้า  “มีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศ” และ “ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ”
                คนเหล่านี้ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าเราสามารถเรียนรู้จากแบบอย่างที่ไม่ดี: ชายที่น่าจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง  แต่สูญเสียทุกสิ่งเป็นเครื่องสังเวยความโลภ  ความมักใหญ่ใฝ่สูงอันไร้ขอบเขตของตน  ในแก่นสารของทั้งแม็คเบ็ธดั้งเดิมและใน เชคสเปียร์ต้องตาย เรานั่งดูชายคนหนึ่งสำรวจความรู้สึกนึกคิดผิดชอบชั่วดี  แล้วยังตัดสินใจที่จะทำลายตนเอง  นี่คือเหตุผลที่จูงใจให้ข้าพเจ้าเลือกเอาแม็คเบ็ธมาสร้างเป็นภาพยนตร์ไทย  เชคสเปียร์มีสมรรถภาพจำเพาะที่จะสั่นคลอนความคิดตื้นของคนไทย  เพราะว่าเขาคือยาถอนพิษชั้นเลิศในการต้านทานโฆษณาชวนเชื่อและกรอบความคิดคับแคบที่มองโลกเป็นขาว-ดำ  เชคสเปียร์มีความลึกล้ำทางจิตวิญญาณและศีลธรรม  แต่ในขณะเดียวกัน  เชคสเปียร์ก็ปลอดจากสารพิษแห่งการตัดสินพิพากษา  ชี้นิ้วยกตนข่มท่าน  และความบ้าศีลธรรม เพราะจุดยืนของเชคสเปียร์คือปัญญาและเมตตาธรรม
ประเทศชาติที่มีสุขในเสรีภาพทางการแสดงออกทางศิลปะทุกแขนง  รวมทั้งภาพยนตร์  สามารถถ่วงดุลย์  และสร้างภูมิต้านทานทางสังคม  ต่อคลื่นอันท่วมท้นแห่งการตลาดที่คอยสร้างความไร้สติ และการชักใยทางการเมือง  ในขณะที่ประเทศไทยนั้น  แทบไม่มีอะไรมาถ่วงดุลย์อำนาจแห่งความเย้ายวนของอุตสาหกรรมโฆษณา  และการบิดเบือนข่าวสารโดยเครื่องจักรประชาสัมพันธ์อื่นๆ ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการค้าและการเมือง  ดังนั้น  คนไทยส่วนใหญ่จึงไม่เข้าใจภาษาสื่อมวลชน  อาหารสมองหลักของเราคือละครน้ำเน่า  เกมโชว์และโฆษณา  เราคือกลุ่มเป้าหมายแน่นิ่ง  คือเหยื่อการตลาดอันโอชะ  เราไม่มีทางรอดเลย
                สำหรับข้าพเจ้า  นี่คือรากเหง้าของปัญหาของเราในปัจจุบัน  เราจะมีสังคมที่สงบร่มเย็น  ภายใต้ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร โดยปราศจากความรู้ภาษาสื่อมวลชนนี่คือเหตุผลที่ข้าพเจ้าเห็นว่าภาพยนตร์เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
                ภาพยนตร์ถูกมองเป็นสิ่งที่มีพิษภัย  แล้วความบ้าอำนาจ  ความอยุติธรรม การเลือกปฏิบัติทางกฏหมาย  การกดขี่ข่มเหง สิ่งเหล่านี้มิใช่ภัยสังคมยิ่งไปกว่าหรือ?  การปฏิเสธความจริง  การปฏิเสธความรู้จักตนเอง น่าจะเป็นสิ่งที่อันตรายกว่าภาพยนตร์ใดใดทั้งสิ้น โดยเฉพาะภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่สร้างจากบทละครเชคสเปียร์ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ให้ทุนสร้างขึ้นมาเอง เพื่อให้คนไทยได้สัมผัสผลงานของกวีเอกของโลก
ศิลปะมีอยู่เพื่อสิ่งนี้: เพื่อให้เราได้รู้จักตัวเอง  นั่นคือธรรมะของศิลปินแท้  เขามีหน้าที่ช่วยให้เราสำรวจตัวเอง  โดยเฉพาะความคิดฝันที่มืดมนที่สุดของเรา เพื่อที่เราจะได้เกิดความสะพรึงกลัวในสิ่งนั้น  และรู้จักตัวเอง
                เมืองไทยหลงทางเพราะเรากักขังจินตนาการของเราไว้ในคุกใต้ดิน  มัดตรึงด้วยโซ่ตรวน  แผ่นดินใดที่ไร้ภาพยนตร์แห่งชาติที่เป็นเสรี  แผ่นดินนั้นย่อมไม่มีทางและไม่มีวันที่จะเป็นไท

 [บทแปลสรุปคำอภิปรายของ สมานรัชฎ์  กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับ เชคสเปียร์ต้องตาย ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย, วันที่ 5 กรกฎาคม 2555]

5. ประโยชน์ทางภาพพจน์ของชาติ
คำสั่งห้ามฉายและคำยืนยันคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นจากบทละครอมตะ ซึ่งบรรจุอยู่ในหลักสูตรมัธยมต้นทั่วโลกมาหลายชั่วคน ได้ปรากฏเป็นข่าว สร้างความพิศวงตกตะลึงและขบขันต่อชาวโลกอย่างกว้างขวาง  ดังนั้น  การยกเลิกคำสั่งนี้ย่อมมีผลลัพธ์ที่ดีต่อการยอมรับในความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลไทย
ในระยะยาว รัฐบาลใดที่กล้าหาญสร้างประวัติศาสตร์ โดยการยกเลิกการแบนภาพยนตร์ในประเทศไทย  จะได้รับคำแซ่ซ้องสรรเสริญจากทุกมุมโลกและทั่วทั้งสังคมไทย  ประเทศไทยจะมีภาพเป็นประชาธิปไตยและเป็นมิตรต่อการลงทุนและการท่องเที่ยว  ประโยชน์ทางภาพพจน์และความเป็นมิตรที่รัฐบาลจะได้รับจากการเลิกแบนภาพยนตร์นั้นประเมินค่ามิได้ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเสียอะไรเลย ในเมื่อระบบจัดเรทติ้งนั้นคงอยู่
และหากว่าภาพยนตร์ใดละเมิดกฎหมาย เช่น มาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และหมิ่นประมาทผู้ใด ก็มีกฎหมายเฉพาะเรื่องนั้นๆ ทั้งแพ่งและอาญาที่ครอบคลุมการละเมิดนั้นๆ อยู่แล้ว

ด้วยความเคารพอย่างสูง และสัจจธรรม

                    .. สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
        ผู้กำกับ-ตัดต่อและผู้แปลบทละคร
          ‘เชคสเปียร์ต้องตาย

v