หนังสืออุทธรณ์คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ

16.4.12

English Version



หนังสืออุทธรณ์คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ
เขียนที่ ๑๑ สุขุมวิท ๓๐ แขวงคลองตัน
เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ๑๐๑๑๐
โทร ๐๘๕ ๑๙๙ ๔๐๕๐
๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕
เรื่อง ขออุทธรณ์ยกเลิกมติห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์ไทย เชคสเปียร์ต้องตายในราชอาณาจักร
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ประธานคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ
สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑/ สำเนาหนังสือบันทึกการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ คณะที่ ๓
๒/ รายนามผู้ร่วมคัดค้าน พร้อมความคิดเห็น
๓/ คลิปรายงานข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
๔/ ซีดี รายการสัมภาษณ์ต่อประเด็นห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้
๕/ ความคิดเห็นของผู้ชมตัวอย่างภาพยนตร์จาก YouTube
ตามที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ ๓ ได้มีมติห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์ไทยเรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย’ (Shakespeare Must Die) เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยอ้างเหตุผลว่า “มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๗ (๓)” นั้น (โปรดดูเอกสารแนบ)
ข้าพเจ้า นายมานิต ศรีวานิชภูมิ และ น.ส.สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย เห็นว่ามติดังกล่าว ไม่เป็นธรรม มีความรุนแรง ไม่สมเหตุสมผล ไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของความจริง และอาจเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติ
ดังนั้น ข้าพเจ้าทั้งสอง และผู้ร่วมคัดค้านทั้ง คน (โปรดดูเอกสารแนบ) จึงขอยื่นอุทธรณ์ต่อท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เป็นประธานคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ได้โปรดยกเลิกมติห้ามเผยแพร่ดังกล่าว และอนุญาตให้ เชคสเปียร์ต้องตาย มีสิทธิเผยแพร่และจัดจำหน่ายในราชอาณาจักร เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ทั่วไป โดยมีเหตุผลคัดค้านคำกล่าวหาของมติดังกล่าว ดังนี้:
๑/ เชคสเปียร์ต้องตายเป็นภาพยนตร์ไทยที่สอนศีลธรรมและคุณธรรม
โดยแปลและดัดแปลงมาจากบทละคร โศกนาฏกรรมของแม็คเบ็ธ (The Tragedy of Macbeth) ของกวีเอกโลก วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ (William Shakespeare 1564 – 1616) โดยมีเรื่องย่อดังนี้ (ตามที่ส่งเข้าขอทุนโครงการไทยเข้มแข็ง พ.ศ. ๒๕๕๓)
บทคัดย่อ
เรื่องราวตำนานแห่งการเมืองและไสยศาสตร์ที่แปลเป็นไทยอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับละคร โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ’ (The Tragedy of Macbeth) ของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ กวีเอกของโลก โดยมีการดัดแปลงเพื่อให้เป็นภาษาของภาพยนตร์และเข้ากับบริบทของวัฒนธรรมไทย หนังผีเชคสเปียร์ เรื่องนี้ ดำเนินเรื่องไปพร้อมๆ กันในสองโลก : ในโลกของโรงละคร-โลกของขุนพลกระหายเลือด มักใหญ่ใฝ่สูง งมงายในไสยศาสตร์ ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นราชาโดยฆาตกรรม และโลกภายนอกในชีวิตร่วมสมัยของนักปกครองเผด็จการของประเทศสมมติแห่งหนึ่ง ผู้ที่งมงายในไสยศาสตร์, โหดเหี้ยม และบ้าอำนาจ ซึ่งมีชื่อเรียกเพียงว่า ท่านผู้นำและภริยาไฮโซน่าสะพรึงกลัวของท่าน เหตุการณ์ต่างๆ ในสองโลกแฝดนี้ ส่องสะท้อนกันและกัน ค่อยๆ เริ่มซึมเข้าหากัน กระทั่งสุดท้าย มันจึงประสานงากันอย่างรุนแรงและโหดร้าย เมื่อคณะละครต้องชดใช้ด้วยชีวิต โทษฐานบังอาจอุตริแสดงละครเรื่องนี้ในสังคมที่ปกครองโดยมนุษย์เช่นท่านผู้นำ พวกเขาคิดอย่างไรที่จะต่อสู้กับความกลัวด้วยศิลปะ?
โครงเรื่องขยาย (Treatment)
ในโลกหลังสมัยใหม่ (post-modern) ที่ยกย่องและส่งเสริมความไม่ชัดเจนของจริยธรรม ที่ไม่ยอมตัดสินระหว่างของจริงกับความจอมปลอม ระหว่างชั่วกับดี ถูกกับผิด เรากำลังต้องการศิลปะที่มีเลือดเนื้อ มีกล้าม มีเขี้ยวเล็บ มีเงามืดที่มืดสนิทและแสงสว่างที่แจ่มชัด สิ่งนี้ แม็คเบ็ธ ของเชคสเปียร์ในบริบทของไทย สามารถให้แก่เราได้
เชคสเปียร์ต้องตาย ได้แรงบันดาลใจและบทเกือบทั้งหมดจากโศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ (‘The Tragedy of Macbeth’) ของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ ซึ่งเป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่เปี่ยมด้วยความสามารถและความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ความมักใหญ่ไฝ่สูงและความต้องการอันไร้ขอบเขตของเขาและภรรยาคล้ายปีศาจ กลับนำพาให้ทั้งสองต้องสูญเสียทุกอย่าง รวมทั้งสุขภาพจิตและชีวิต ต่อด้านมืดของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย นั่นคือโศกนาฏกรรม เมื่อพระเอกกับผู้ร้าย และนางเอกกับนางร้าย คือคนเดียวกัน
ในเรื่องเดิมของเชคสเปียร์ แม็คเบ็ธเป็นขุนพลเก่งกล้าที่ปกป้องราชอาณาจักรจากข้าศึกต่างแดนที่มารุกราน เขาได้รับความดีความชอบมากมายจากพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นที่ยกย่องของทุกๆ คน แต่ระหว่างที่เดินทางไปเข้าเฝ้า เขาพบกับแม่มดสามนางที่ทำนายทายทักว่าเขาจะได้เป็นกษัตริย์ในภายหน้า เมื่อคุณหญิงแม็คเบ็ธผู้เป็นภรรยาได้ฟังคำทำนายนี้ นางก็ยุยงให้สามีสังหารพระราชา เพื่อให้คำทำนายซึ่งเป็นความฝันของเขาทั้งสองเป็นจริง แต่แทนที่อำนาจจะนำความพึงพอใจมาให้ เขากลับเกิดอาการวิตกจริต ระแวงระวังผู้คนรอบด้าน สั่งลอบสังหารได้แม้กระทั่งเพื่อนคู่คิดและลูกเมียของขุนนางที่เขาไม่ไว้วางใจ ฆาตกรรมครั้งแรกเพื่อให้ได้มาสู่อำนาจ ทำให้เขาต้องฆ่าต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดเพื่อรักษาอำนาจนั้นไว้ จนบ้านเมืองของเขากลายเป็นดินแดนแห่งความกลัว ปกครองโดยทรราชที่บ้าเลือดและคลั่งไคล้ในไสยศาสตร์
ในคำบรรยายของขุนพลผู้หนึ่งในเรื่องนี้ ซึ่งเราจะนำไปเขียนเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ ในลักษณะขับเสภา :
อนิจจา บ้านเมืองน่าเวทนา
Alas, poor country.
เจ้าแทบไม่กล้ารู้จักตัวเอง มิอาจเรียกได้
Almost afraid to know itself. It cannot
ว่าแผ่นดินแม่ แต่เป็นหลุมศพของเรา
Be called our mother, but our grave, where nothing
ที่ซึ่งปราศจากรอยยิ้ม ยกเว้นแต่บนใบหน้า
But who knows nothing is once seen to smile;
ผู้คนที่ไม่รับรู้สิ่งใดเลย ที่ซึ่งเสียงทอดถอนลมหายใจ
where sighs and groans and shrieks that rent the air
เสียงครวญคราง เสียงกรีดร้องดังอื้ออึงอยู่ทั่วหล้า
Are made, not marked… The dead man’s knell
แต่ไม่มีใครเห็นแปลกหรือผิดสังเกต...และเมื่อระฆังประหารกังวานIs there scarce asked for who, and good men’s lives
ไม่มีใครถามว่าเป็นเวลาของใคร
Expire before the flowers in their caps,
และคนดีอายุสั้นยิ่งกว่าดอกไม้แซมผม คอขาดล้มตาย
Dying or ere they sicken.
ก่อนมันเริ่มเฉาบนหัวของเขาด้วยซ้ำ
เหล่าคนดีที่รักชาติต้องลี้ภัยไปต่างแดน และกลับมากู้ชาติโดยมีโอรสของกษัตริย์ที่ถูกสังหารเป็นผู้นำทัพ ส่วนขุนพลที่ลูกเมียเป็นเหยื่อคมดาบของแม็คเบ็ธ ได้ล้างแค้นตัดคอทรราชด้วยน้ำมือตนเอง ในขณะที่คุณหญิงภริยาท่านผู้นำนั้นฆ่าตัวตายหลังจากที่เสียสติ เดินละเมอพยายามชำระล้างคาวเลือดบนมือตัวเอง ที่เธอมองเห็นอยู่เพียงคนเดียว
ภาพยนตร์ของเราเกือบทั้งเรื่องเดินตามบทละครเดิมของเชคสเปียร์ที่แปลเป็นไทยอย่างตรงตัว (รวมทั้งจังหวะของโคลง) แต่ดำเนินเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมๆกันในโลกภายนอกและโรงละคร ราวกับว่ามีการแสดงละครของเชคสเปียร์ในโรงละครแห่งหนึ่ง ในขณะที่บ้านเมือง (ซึ่งเป็นประเทศสมมติ) กำลังวุ่นวาย ละครที่เล่นตามเรื่องในโรงนั้น จบลงด้วยการตายของแม็คเบ็ธ แต่ในโลกของความเป็นจริงในหนัง กลุ่มอันธพาลที่คลั่งไคล้ในท่านผู้นำและโกรธแค้นการล้อเลียนท่านโดยการแสดงละครเรื่องนี้ วิ่งกรูเข้ามาทำร้ายนักแสดงและผู้คนที่กำลังนั่งดูละคร และจบลงด้วยการลากผู้กำกับละคร(ที่แต่งตัวเหมือนเชคสเปียร์)ไปแขวนคอหน้าโรงละคร ท่ามกลางเสียงเฮของม็อบอันธพาล เป็นอันว่า เชคสเปียร์ต้องตายเพราะศิลปะห้ามทำหน้าที่ชี้สัจจะ ซึ่งย่อมสั่นคลอนฐานอำนาจของทรราช
หนังจบลงด้วยการออกโทรทัศน์ประกาศภาวะฉุกเฉินโดยท่านผู้นำ ผู้รวบรวมอำนาจไว้ในมือเดียวได้สำเร็จเบ็ดสิ้น ราวกับว่าเย้ยหยันศรัทธาของคนทำงานศิลปะ ที่เชื่อมั่นว่า ศิลปะ คือ ภูมิต้านทานไวรัสแห่งความกลัว
แม็คเบ็ธ ทั้งในต้นฉบับเดิมของผู้ประพันธ์ และตามที่ปรากฏอยู่ใน เชคสเปียร์ต้องตาย ของข้าพเจ้า ล้วนเป็นอุทาหรณ์และปริศนาธรรมที่สั่งสอนให้เกิดปัญญาเกี่ยวเนื่องบาปบุญคุณโทษ เมื่อแม็คเบ็ธละเมิดกฎอันศักดิ์สิทธิ์ของจักรวาล เขาจึงต้องรับผลกรรมที่ตนก่อขึ้นต่อจิตวิญญาณตนเองและชาติบ้านเมือง ทั้งเรื่องเป็นการต่อสู้ระหว่างธรรมะและอธรรมในจิตใจของแม็คเบ็ธเอง และมันเป็นโศกนาฏกรรมเพราะเขาตัดสินใจด้วยกิเลส ตัณหา ความหวาดระแวง ความไร้สติ
ด้วยเหตุนี้ แม็คเบ็ธ ของเชคสเปียร์จึงบรรจุอยู่ในหลักสูตรวรรณคดีของเด็กมัธยมต้นในทุกประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เด็กอายุ ๑๕ – ๑๖ แทบทุกคนในอังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลีย เคยต้องนั่งสอบเรื่องนี้มาแล้วหลายชั่วอายุคน การแบนหรือห้ามฉาย แม็คเบ็ธ ฉบับไทยครั้งนี้ จึงฟังดูเป็นเรื่องน่าพิศวงสำหรับคนทั่วโลก และเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับภาพลักษณ์ของประเทศไทย พาให้ชาวโลกต้องตั้งคำถามว่า เรามีประชาธิปไตยจริงหรือไม่? เหตุใดจึงต้องถึงกับแบนภาพยนตร์จากละครเชคสเปียร์เก่า ๔๐๐ ปี ที่ประณามทรราชเผด็จการ มันจึงไม่น่าแปลกใจที่การแบน เชคสเปียร์ต้องตายโดยรัฐบาลไทย ปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลก (โปรดดูคลิปรายงานข่าวทั้งไทยและต่างประเทศในเอกสารแนบ)
๒/ เชคสเปียร์ต้องตายเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลไทย จำนวน ล้านบาท
โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ขอรับการส่งเสริมสนับสนุนจากกองทุนไทยเข้มแข็ง ผ่านสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และเป็นเรื่องสุดท้ายที่ได้รับทุนนี้ ด้วยเหตุที่ว่ามีคณะกรรมการพิจารณาให้ทุนบางท่านมีความกังวลต่อฉากที่ เมฆเด็ด (แม็คเบ็ธ พระเอก / ผู้ร้าย) ลอบปลงพระชนม์พระราชาดังแคน เราจึงต้องถ่ายทำฉากนี้มาให้คณะกรรมการพิจารณาว่า ไม่มีเนื้อหาและภาพที่มีลักษณะสุ่มเสี่ยงและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒
เมื่อคณะกรรมการได้ชมฉากนี้จากภาพยนตร์ดิบที่กองถ่ายส่งให้พิจารณาอย่างละเอียดโดยไม่ได้ตัดต่อ ทุกเทค (พร้อมเสียง) จากที่กล้องเริ่มเดินจนถึงคัท คณะกรรมการกลับเห็นพ้องว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเจตนารมณ์ที่ดีต่อมนุษยชาติ เพราะเป็นเรื่องของ บาปบุญคุณโทษและมิได้มีลักษณะหมิ่นเหม่ต่อสถาบันเบื้องสูงแต่อย่างใด จึงมีการอนุมัติให้ทุนสนับสนุน เชคสเปียร์ต้องตาย
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ไทยเชิงประวัติศาสตร์ได้นำเสนอภาพการปลงพระชนม์กษัตริย์ไทย (มิใช่ของประเทศสมมติ) เพื่อแย่งชิงอำนาจ เช่น สุริโยทัย และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นต้น แต่ภาพยนตร์ดังกล่าวกลับมิได้รับการกล่าวหาว่าหมิ่นต่อสถาบันแต่อย่างใด ยังกลับได้รับการจัดประเภท ภาพยนตร์ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู จากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์อีกด้วย
๓/ เชคสเปียร์ต้องตาย มีความตั้งใจดี ส่งเสริมความปรองดองที่แท้จริงและยั่งยืน
เรื่องเจตนารมณ์ที่ดีต่อมนุษยชาตินี้ เป็นเข็มทิศของกองถ่าย เชคสเปียร์ต้องตายทุกคน ไม่เคยมีใครคิดมุ่งหวังร้ายสร้างผลงานที่จะยุยงให้เกิดความแตกแยก ความโกรธเกลียดชัง ซึ่งแม้นว่าไม่เคยมี เชคสเปียร์ต้องตายขึ้นมาในโลก ก็มีการเผยแพร่สิ่งเหล่านี้กันอย่างล้นหลามทั่วสังคมไทยอยู่แล้วในปัจจุบัน การกล่าวหาหรือเข้าใจผิดว่า เชคสเปียร์ต้องตาย จะพาให้ผู้คนแตกสามัคคี จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระ ไร้เหตุผล ไร้ความถูกต้องอย่างสิ้นเชิง
ในประเด็นนี้ มีการถกเถียงกันอย่างมากถึง “ฉาก ๖ ตุลา” ที่เลียนแบบภาพถ่ายของ นีล ยูเลฟวิช แห่งสำนักข่าว เอพี ภาพเหตุการณ์สังหารนักศึกษาในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ตัวอย่างทาง YouTube (ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าชมจำนวนกว่า ๙๒,๐๐๐ คน น่าสังเกตว่าการแบนภาพยนตร์ แทนที่จะเป็นไปตามความคาดหวังของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ กลับทำให้สาธารณชนเกิดความสนใจ และไม่พอใจกับการแบนดังกล่าว)
หากท่านได้ดูฉากนี้ทั้งฉากในภาพยนตร์เต็ม ท่านจะเห็นว่าทั้งผู้กำกับ ทั้งกล้อง และการตัดต่อ ไม่ได้จับจ้องอยู่ที่ผู้กระทำความรุนแรงและศพที่ถูกแขวนคออยู่ แต่จับจ้องอยู่ที่ใบหน้าและปฏิกิริยา การแสดงออกถึงความสะใจ บ้าคลั่ง ของกลุ่มคนที่มายืนส่งเสียงเชียร์และหัวร่อต่อความรุนแรงที่บังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเขา (ซึ่งตรงกับอิริยาบถของไทยมุงในภาพข่าวเอพี) เห็นชัดจากนี้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการปลุกจิตสำนึกผู้ชมให้เกิดสติและปัญญา ได้คิดว่าครั้งหนึ่งสิ่งเลวร้ายนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อประชาชนปล่อยให้ตนเองเคลิบเคลิ้มไปกับการปลุกปั่นโดยโฆษณาชวนเชื่อที่มีเจตนาแฝงร้าย มุ่งหวังให้ประชาชนลุกขึ้นฆ่ากันเอง มันเป็นความหวังของเราว่า ผู้ชมที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้จะรู้สึกสะอิดสะเอียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนั้น และเห็นพ้องกับเราว่า ไม่มีเหตุผลใดที่จะลุกขึ้นมาฆ่ากันเอง
ดังนั้น แทนที่จะเป็นการยุยงให้แตกแยก ให้เกิดความเคียดแค้นจากการสะกิดรอยแผลเก่าของสังคมไทยในอดีต เรามีความตั้งใจที่ดีที่เป็นการส่งเสริมความปรองดองที่แท้จริงและยั่งยืน
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อไม่นานมานี้มีภาพยนตร์ไทยเรื่อง มหาลัยสยองขวัญ ได้นำเอาเหตุการณ์ ๖ ตุลา ดังกล่าวเช่นกัน มาสร้างประกอบบางตอนของภาพยนตร์สยองขวัญ โดยจำลองฉากการสังหารนักศึกษาที่ใกล้เคียงเหตุการณ์จริง แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับได้รับการอนุมัติให้เผยแพร่ได้เป็นปกติ และไม่มีการพูดถึงความถูกต้องหรือการบิดเบือนประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
อีกประเด็นที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ ๓ ตั้งคำถามต่อข้าพเจ้า คือ เรื่องการใช้สีแดงในภาพยนตร์
หากว่าท่านเปิดดูคำนำบทละคร แม็คเบ็ธ ฉบับของคณะละครเชคสเปียร์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (The Royal Shakespeare Company) ท่านจะเห็นว่าสองประโยคแรกเขียนว่า “เม็คเบ็ธ เป็นละครโศกที่สั้นและเร็วที่สุดของเชคสเปียร์ สีของมันคือ สีดำ และ แดง” สิ่งนี้เป็นคุณลักษณะที่โจ่งแจ้งของละครเรื่องนี้ ถาดสีของ เชคสเปียร์ต้องตาย ที่เราตัดสินใจใช้เป็นหลักคือ สีดำ สำหรับค่ำคืนและความมืดมน สีแดง สำหรับเลือดและความรุนแรง (ซึ่งมีการพูดถึงตลอดเวลาในบทละคร ทั้งมือเปื้อนคาวเลือด, ทะเลที่ถูกเลือดย้อมสีจน “สิ่งที่เป็นสีเขียวต้องกลายเป็นแดง” เป็นต้น)
หากว่าไร้อคติ ท่านจะเห็นได้อย่างง่ายดายว่า กลุ่มอันธพาลที่คาดหัวด้วยผ้าแดงนั้น ที่แท้ก็สวมเครื่องแบบลิเกนั่นเอง เพชฌฆาตลิเกนั้นโพกหัวด้วยผ้าแดง และสมัยก่อนไม่นานมานี้เพชฌฆาตไทยก็โพกผ้าแดงในการประหารชีวิตนักโทษด้วยดาบ มันเป็นเพียงสัญลักษณ์ครอบจักรวาลถึงความรุนแรงที่ทุกคนเห็นแล้วเข้าใจ นอกจากใน ฉาก ๖ ตุลา เราใช้สีสัญลักษณ์นี้กับฆาตกรทุกตัวละครในภาพยนตร์ รวมทั้งพญายม มีเพียงกลุ่มฆาตกรที่ฆ่าคุณหญิงเมฆดับเท่านั้นที่ไม่ได้ใช้สีแดง แต่ใส่สูทซาฟารีสีเทา, ดำ หรือน้ำเงิน ซึ่งเป็นชอร์ทแฮนด์ของไทยเราสำหรับลูกน้องของผู้มีอิทธิพล เป็นเครื่องแบบที่รู้จักกันดีของคนขับรถและมือปืนประจำตัวนักการเมือง เป็นต้น
น่าสังเกตว่าในรายชื่อของผู้ร่วมลงนามคัดค้านการแบน เชคสเปียร์ต้องตายมีผู้คนที่เรียกตนเองว่า ชาวเสื้อแดง ปรากฏอยู่ด้วย เคียงข้างศิลปินที่มีชื่อเสียงและบุคคลทั่วไป ที่ล้วนไม่เห็นด้วยกับการละเมิดหลักเสรีประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์ไทย ไม่ว่าพวกเขาจะเห็นด้วยกับเนื้อหาใจความของภาพยนตร์เรื่องนี้หรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นเรื่องของหลักการ และการเสียสิทธิของเขาในฐานะผู้ชมภาพยนตร์
๔/ เจตนารมณ์ของ พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับระบบการจัดประเภทของภาพยนตร์ (Rating) เพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แทน พรบ.ภาพยนตร์ฉบับเก่า พ.ศ. ๒๔๗๓ ที่ใช้วิธีแบบเผด็จการคือ ห้ามฉายหรือแบน
โดยสรุป ท่านจะเห็นได้จากเหตุผลข้างต้นทั้งหมดว่า การแบนภาพยนตร์ไทย เชคสเปียร์ต้องตายไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์เล็กๆ เรื่องหนึ่ง แต่เป็นประเด็นที่กระทบสิทธิเสรีภาพทางการแสดงออกทางสื่อมวลชนและศิลปะ ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าการใช้มติในลักษณะเผด็จการแบนภาพยนตร์ไทยจะเกิดขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และการแบนภาพยนตร์เรื่องใดก็ตามนั้น ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิทางการแสดงออกภายใต้รัฐธรรมนูญเสรีประชาธิปไตยของผู้สร้างภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังละเมิดสิทธิในการรับรู้ข่าวสารและสื่อดังกล่าวของสาธารณชนประชาชนไทยทุกคนอีกด้วย และต้องไม่ลืมว่า เชคสเปียร์ต้องตายนั้น สร้างขึ้นจากเงินภาษีของประชาชนด้วยส่วนหนึ่ง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาพยนตร์ไทยที่มีคุณค่า มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งระบบธุรกิจอาจไม่สนับสนุน
ข้าพเจ้าจึงขออุทธรณ์มายังท่านประธาน โปรดพิจารณายกเลิกมติห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตายในราชอาณาจักร และอนุญาตให้เผยแพร่ตามปกติ ภายใต้การจัดประเภทอายุผู้ชม (Rating) อันเห็นสมควร
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ด้วยความนับถือ
นาย มานิต ศรีวานิชภูมิ
ผู้อำนวยการสร้าง
มือถือ 085 199 4050
น.ส.สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
ผู้กำกับภาพยนตร์/ผู้อำนวยการสร้าง